กรุงเทพฯ 1ส.ค-MEA ครบรอบ 64 ปี ก้าวสู่ความท้าทาย “Challenging The Future” มุ่งสู่อนาคตใหม่ เดินหน้า”Smart Metro grid” นำร่อง 9 กม.กลางเมือง พร้อมติดตั้ง หัวชาร์จ EV เพิ่ม เป้าหมาย 600จุดใน 5ปี และย้ายสายไฟฟ้าลงดิน ย้ำแม้ใช้งบสูง แต่ไม่ผลักภาระให้ประชาชน
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 64 ปี วันคล้ายวันสถาปนาการไฟฟ้านครหลวง MEA โดยระบุว่า MEA พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหม่ตามแนวทาง “64 th MEA Chalenging The Future” ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าสูงสุดในทุกมิติ
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 64 ปี MEA ได้ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สามารถให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยปัจจุบันดำเนินโครงการ ที่สำคัญ เช่นโครงการ “Smart metro Grid” พื้นที่นำร่อง 9 ตารางกิโลเมตร บริเวณถนนพระราม 4 พญาไท เพชรบุรีและรัชดาภิเษก มีการติดตั้ง smart meter จำนวน 33,2650ชุด ทำให้สามารถเชื่อมโยงการบริหารจัดการด้านต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพทั้งการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ การประมวลผลวิเคราะห์เพื่อวางแผนขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า และสามารถวิเคราะห์บริเวณที่เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่แก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว
ส่วนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นอีกนโยบายสำคัญที่ MEAมุ่งเน้นให้เกิดการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมตอบสนองแผนงานด้านพลังงานในการส่งเสริมการใช้การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทย โดยปี 2565 เป็นเวลาครบรอบ 10 ปีที่ MEA ขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ EV โดยได้ศึกษาวิจัยพัฒนาระบบสถานีอาจประจุไฟฟ้าพร้อมจัดทำ MEA EV Application สำหรับการชาร์จและการเข้าถึงข้อมูลการใช้งาน และติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ภายโครงการ “มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน.”ไปแล้ว 100หัวชาร์จ และมีแผนที่จะติดตั้งเพิ่มขึ้นปีละ100 หัวชาร์จ รวมภายใน 5 ปีมีเป้าหมาย เพิ่มหัวชาร์จประจุไฟฟ้าเป็น 600 หัวชาร์จ
ผู้ว่าฯ MEA ยังระบุด้วยว่า MEA มีแผนพัฒนาระบบบริการทั้งหมดให้เป็น fully digital service ภายในปี 2568 โดยมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผ่านระบบ e-service ในทุกช่องทางซึ่งรวมถึงการแจ้งเตือนไฟฟ้าดับผ่านapplication ให้ผู้ได้รับผล กระทบรับรู้ในรูปแบบรายบุคคล สอบถามผ่าน call center1130 ถึงเตรียมพร้อมฟังก์ชันรองรับ smart meter ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและการบริหารจัดการไฟฟ้าได้ในรูปแบบ real time
ส่วนโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยมีโครงการรวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า 236 กิโลเมตรมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2570 ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จรวม 62 กิโลเมตรพร้อมยืนยันค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ยกิโลเมตรละ 300-400 ล้านบาท จะใช้เงินจากงบบริหารจัดการของ MEA โดยจะไม่มีการผลักภาระไปยังค่าใช้ไฟของประชาชนแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย