กรุงเทพฯ 18 ก.ค.- ปลัดเกษตรฯ เผยข่าวดี คณะกรรมการ FAO มีมติให้ “วิถีการเลี้ยงควายและเกษตรเชิงนิเวศทะเลน้อย” ผ่านเข้ารอบสุดท้าย “มรดกทางการเกษตรโลก” โดย FAO เตรียมเดินทางมาไทยเพื่อตรวจประเมินพื้นที่ทะเลน้อย จ. พัทลุงเดือนตุลาคมนี้ หากผ่านประเมิน คาดประกาศผลอย่างเป็นทางการภายในสิ้นปี 2565
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโรมเกี่ยวกับผลการพิจารณาขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ กรุงโรมซึ่งได้ตรวจเอกสารใบสมัครมรดกโลก (GIAHS) ฉบับปรับปรุงแก้ไข ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ FAO รับรอง “การเลี้ยงควายและระบบเกษตรเชิงนิเวศทะเลน้อย” เป็น “มรดกทางการเกษตรโลก” (Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GIAHS) โดยคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของ FAO ได้ประชุมพิจารณาระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่า ผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จากนั้นคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของ FAO เตรียมเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อตรวจประเมินพื้นที่ “ทะเลน้อย” ภายในเดือนตุลาคม โดยทาง FAO จะแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมให้ทราบภายใน 2-3 สัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนให้ผลักดันพื้นที่ชุ่มทะเลน้อย จ.พัทลุง เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกทางการเกษตรโลกผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างไทย–FAO เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดย FAO ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดทำแผนงานและเอกสารข้อเสนอการขึ้นทะเบียน (GIAHS Proposal) และได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลกได้จะต้องมีองค์ประกอบครบตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่ 1) ความมั่นคงด้านอาหาร/ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี 2) ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร 3) ระบบความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีมาแต่ดั้งเดิม 4) วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม และ 5) ลักษณะภูมิทัศน์/และภูมิทัศน์ทางทะเล โดยในปี พ.ศ. 2564 มีพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GIAHS แล้ว 62 พื้นที่ จาก 22 ประเทศทั่วโลก
นายทองเปลว พื้นที่ทะเลน้อยมีความสำคัญเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากจนได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ “Ramsar site” และมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ FAO ในการเป็นมรดกทางการเกษตร ที่เน้นการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตรโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจ ปกป้องและส่งเสริมการใช้ทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและยั่งยืนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย มีวิถีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับควายน้ำทะเลน้อย โดยสืบทอดการเลี้ยงควายมายาวนานมากว่า 250 ปี
สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีรายได้หลักจากการขายควาย ประกอบกับการทำประมง ปลูกข้าว และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระจูด ด้านระบบนิเวศ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในทะเลน้อยมีปริมาณสูง ควายน้ำจะดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำและพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่าย กระจูด ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการกำจัดวัชพืชและมูลของควายยังเป็นอาหารให้กับพืชและแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารปลา และในส่วนของด้านวัฒนธรรม ควายเป็นศูนย์รวมของความเชื่อ มีพิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับควาย และทางเดินของควาย นอกจากจะสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามยังช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าอีกด้วย
หากพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลกได้สำเร็จ จะทำให้เกษตรกรและชุมชนได้รับประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว โอกาสทางการเกษตร การจ้างงานเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยคาดว่า FAO จะประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ภายในสิ้นปี 2565 นี้.-สำนักข่าวไทย