ทำเนียบฯ 12 ก.ค. – ครม. ไฟเขียวลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ปี 65 รวม 29 จังหวัด วงเงิน 2 พันล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 ครั้งที่ 3 รวม 29 จังหวัด จำนวน 1,138 โครงการ กรอบวงเงินรวม 1,973 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มอาชีพ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
คาดว่า มีผู้ได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย กลุ่มประชาชน 1.5 ล้านคน, เกษตรกร 478,926 คน, กลุ่มผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 9,789 ราย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 2 กลุ่ม, กลุ่มด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างและปรับปรุงถนน 406 เส้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ฝาย ท่อระบายน้ำ ผนังป้องกันตลิ่ง ไม่น้อยกว่า 791 แห่ง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ยังได้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบโครงการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 29 จังหวัด เป็นหน่วยรับผิดชอบโครงการและดำเนินการจัดทำแผนความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือนเพื่อให้ สบน.สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายจริง เช่น การขุดลอกหรือพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบน้ำบาดาล การผลิตน้ำประปา โดยไม่ซ้ำซ้อนกับบริการของการประปาส่วนภูมิภาค
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติขยายเวลาโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหอผู้ป่วยและห้องผ่าตัด รองรับและบรรเทาภัยจากโรคติดเชื้อโควิด-19 จากเดิมสิ้นสุดโครงการเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นเดือนสิงหาคม 2565 และปรับลดกรอบวงเงินโครงการ จากเดิม 31.90 ล้านบาท เป็น 28.45 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมทรัพยากรน้ำขยายเวลาโครงการปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร จากสิ้นสุดโครงการเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นเดือนพฤศจิกายน 2565 รวมทั้งขยายเวลาโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จากสิ้นสุดโครงการเดือนกันยายน 2564 เป็นเดือนกันยายน 2565
นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ โดยเปลี่ยนแปลงการจัดหาครุภัณฑ์สำหรับสกัดสมุนไพรของโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจงหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสกลนคร จากการใช้ “กระบวนการสกัดน้ำมันจากสมุนไพร” เป็น “การทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง” ทั้งนี้ ตามที่ รมว.การอุดมศึกษาฯ ได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว.-สำนักข่าวไทย