กรุงเทพฯ 11 ก.ค.- ราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ใหม่ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด ซึ่งเป็นการปรับปรุงให้เข้มงวดขึ้น ยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศเทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียนลำดับต้น ๆ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป ให้ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. และกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2565) โดยวิธีการตรวจวัดให้เป็นไปตามที่ประกาศ
ทั้งนี้ ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น ใช้มานานกว่า 10 ปี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ตามที่ ครม.เห็นชอบ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย คพ. ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศโดยทั่วไป แล้วนำเสนอผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จากนั้น ได้นำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ให้ความเห็นชอบและออกเป็นประกาศ
สำหรับการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ใหม่นี้ เป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้น เทียบเท่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียนลำดับต้น ๆ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงไต้หวัน .-สำนักข่าวไทย