กรุงเทพฯ 30 มี.ค. – ปตท.สผ.-เชฟรอนเตรียมพร้อมประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ รอรัฐเร่งแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม ด้านกรมเชื้อเพลิงฯ พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐ หากต้อง NOC แต่ไม่ขอเอี่ยวศึกษาจัดตั้ง ให้คลังดำเนินการ
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลุยทธ์และพัฒนาธุรกิจ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กล่าวว่า ปตท.สผ.เตรียมพร้อมที่จะประมูลแหล่งบงกชที่จะหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียมปี 2565 ซึ่งรอความชัดเจนว่ารัฐจะเปิดประมูลอย่างไร โดยรอร่างกฎหมาย ปิโตรเลียมประกาศใช้ ซึ่งควรดำเนินการให้เร็วที่สุดภายในสิ้นปีนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียกับรัฐ โดยที่ผ่านมารัฐบาลสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงได้ปีละ 240,000 ล้านบาท และหากล่าช้าจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากการลงทุนขุดเจาะเพื่อสำรวจปิโตรเลียมจะใช้เวลานาน 5 ปี ดังนั้น ยังไม่มีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนปริมาณก๊าซธรรมชาติจะต้องปรับลดลงอย่างชัดเจน
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การผลิตและสำรวจปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ทั้งนี้ เชฟรอนยังคงมีแผนลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องระยะยาว และสนใจเข้าร่วมประมูลในแปลงสัมปทานเดิมที่จะหมดอายุในปี 2565 โดยบริษัทฯ ต้องการให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมและการออกประกาศกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เปิดประมูลจากภาครัฐ (TOR) โดยเร็ว เพื่อให้บริษัทฯ พิจารณาดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานทบทวนพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยที่ผ่านมามีการปรับปรุงตามข้อเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ครม.มีมติให้ปรับถ้อยคำในมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นข้อความดังนี้ “…เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง NOC เมื่อมีความพร้อม โดยให้บัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีดำเนินการจัดตั้งหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับแล้ว” โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์) รับข้อสังเกตไปประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
“กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่าเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลการศึกษาการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อความเหมาะสมจึงขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการเรื่องดังกล่าว หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการศึกษาก็พร้อมดำเนินการ” นายวีระศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย