กรุงเทพฯ 22 มิ.ย.-รมว.พลังงาน แนะโรงกลั่นฯ เชิญ “กรณ์” ทำความเข้าใจตรงกัน “ค่าการกลั่น” ด้าน กพช.เห็นชอบ ยืดอายุโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 8-11 ลดค่าไฟฟ้าเฉียด 3.8 หมื่นล้าน รับทราบ กฟผ.ขอกู้เงินเพิ่มอีก 8.5 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง หลังอุดหนุนค่าไฟฟ้าเอฟที
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในเรื่องการการขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันส่งกำไรบางส่วน เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่ออุดหนุนราคาพลังงานนั้น เอกชนก็พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ก็ต้องได้ข้อสรุปร่วมกันที่เหมาะสม โดยเฉพาะข้อมูลที่แตกต่างกันในเรื่องค่าการกลั่น โดย กรณี นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลังออกมาระบุว่าค่าการกลั่นสูงถึง 8.50 บาท/ลิตร ในขณะที่กระทรวงพลังงาน ประเมินค่าการกลั่นเฉลี่ยปี 65 ที่ 3.27 บาท/ลิตร และ ทางด้านโรงกลั่นก็มีอีกตัวเลขที่แตกต่างกัน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ชี้แจงได้เชิงวิทยาศาสตร์ เพราพฉะนั้นจึงขอให้ กลุ่มโรงกลั่นฯชี้แจงทำความเข้าใจให้ตรงกัน โดยอาจจะเชิญนายกรณ์ มาร่วมพูดคุย เพราะทุกฝ่ายก็ต้องการช่วยประชาชน โดยก็ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ชัดเจน
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช. ) ในวันนี้ก็ได้เห็นชอบ ลดผลกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่แพงขึ้น จึงได้มีมติเห็นชอบการเลื่อนแผน การปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ LNG มีราคาสูงได้ราว 37,907 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ รวมถึงสามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งจะไม่กระทบต่อเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ภายในปี 2573 และมีความสอดคล้องกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยที่ประชุมมอบหมายให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที ) งวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 65 ) ที่จะขยับขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วยนั้น กกพ.ได้แจ้งว่า ได้หารอืกับเอกชนจะมีการปรับขึ้นแบบขั้นบันได เพราะ ต้องยอมรับว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงมาก และแอลเอ็นจีซึ่งมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้า 35 % ผันผวน ขยับสูงมากขณะนี้ขึ้นมาถึงระดับ 36 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลวางแผนไว้แล้วว่า จะช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องโดย ในส่วนของครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าเอฟทีจะจ่ายเท่ากับค่าเอฟทีในงวดที่ 1 ของปีนี้ต่อไป (ม.ค.-เม.ย.65 )
อย่างไรก็ตามในเรื่องการดูแลค่าเอฟทีที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้เข้ามาร่วมรับภาระ ตั้งแต่งวด ก.ย.64-สค.65 วงเงิน 87,000 ล้านบาท และเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง จึงได้แจ้งเป็นหลักการ ต่อ กพช.ว่า ขอกู้เงินเสริมสภาพคล่อง อีกประมาณ 85,000 ล้านบาท ในช่วงงบประมาณ 2566 (1ต.ค.2565-30ก.ย.2566) โดยขอให้ กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ โดย ก่อนหน้านี้ครม.ได้อนุมัติให้กฟผ.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565 – 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันไปแล้ว แต่ไม่เพียงพอกับการดูแลค่าไฟฟ้า
นอกจากนี้ กพช. ได้รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA ต่อไป โดย โครงการปากลาย ปริมาณ 763 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.9426 บาท/หน่วย ไฟฟ้าเข้าระบบ 1 มกราคม 2575 ส่วน โครงการหลวงพระบาง ปริมาณ รับซื้อ 1,400 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้อ 2.8432 บาท/หน่วย เข้าระบบ 1 มกราคม 2573
ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ในอัตรา 6.08 บาทต่อหน่วย (ไม่ร่วมอัตรา FiT Premium) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2569 โดยที่ประชุมมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT รวมถึงกำกับดูแลการคัดเลือกให้เป็นไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องการมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป
กพช. ยังมีมติเห็นชอบโครงการและแผนงานของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งโดยสอดคล้องกับแผนปฏิรูปพลังงาน ได้รับการยกเว้นเงื่อนไขในการได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามหลักการแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า สำหรับแผนงานและโครงการปี 2565 ซึ่งการยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าวสำหรับโครงการและแผนงาน ปี 2565 เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง และให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ.-สำนักข่าวไทย