กรุงเทพฯ27 มี.ค. – “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” ออกโรงค้านจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (NOC ) ร่อนหนังสือถึงสภานิติบัญญิตแห่งชาติ (สนช.) ประชุม 30 มีนาคมนี้ โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ตัดมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติออก ชี้ปล่อยให้ผ่านพลังงานไทยวิกฤติแน่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึง สนช. ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ….วาระ 2-3 วันที่ 30 มีนาคมนี้ โดยขอความร่วมมือให้โหวตเห็นชอบ พ.ร.บ.ฯดังกล่าวผ่าน เพื่อให้มีกฎหมายรองรับการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม แต่ให้ตัดมาตรา 10/1 ว่าด้วยการตั้งNOC ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอออก
“ตั้งแต่การดำเนินงานที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีระบุการจัดตั้งแม้กระทั่งการพิจารณาของ สนช.วาระ 1 แต่อยู่ ๆ ไม่เข้าใจว่าวาระ 2 โผล่เข้ามา มันมีอะไรไม่ชอบมาพากล ต้องมีผู้มีอำนาจหนุนหลังอย่างแน่นอนและยังซุกเข้ามา ซึ่งถ้าดีจริงก็ควรจะถกกันและเปิดเผย ถ้าแยกออกมาเป็น พ.ร.บ.ก็ยังเข้าใจได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งใดที่ไม่ได้เป็นนโยบายและยังไม่ได้มีการศึกษาข้อดีและข้อเสียหากกฎหมายผ่านออกไปจะมีผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากได้เห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการ เพื่อเสนอตั้ง NOC ที่ระบุว่า NOC เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศและระยะเริ่มต้นของการดำเนินงานให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่ NOC ไปก่อน ซึ่งจะทำให้กิจการพลังงานของประเทศถอยหลัง
หากในอนาคตมี NOC แล้ว อำนาจเบ็ดเสร็จจะอยู่ที่ NOC ซึ่งสามารถแทรกแซงได้ง่ายจากนักการเมืองหรือกลุ่มผู้มีอำนาจอื่น ๆ เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะการแก้ไขกฎหมายตามข้อเสนอของรัฐบาลการดูแลปิโตรเลียมของประเทศจะเป็นหน่วยราชการ คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน เพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะเป็นรูปแบบสัปทาน หรือระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือระบบสัญญาจ้างบริการ (service contact) ซึ่งภาคประชาชนสามารถตรวจสอบกระบวนการทำงานได้ทั้งหมด แต่หากเป็น NOC กระบวนการตรวจสอบจะทำได้ยากและท้ายที่สุดหากมีการควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จและเป็นผู้ที่ไม่มีความสามารถท้ายที่สุดปัญหาจะเกิดขึ้นกับประเทศและขาดแคลนพลังงาน
“เมื่อ 50 ปีก่อนขณะที่กรมพลังงานดูแลกิจการน้ำมันมีน้ำมัน “สามทหาร” ของไทยที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญต่อมาตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)เป็นรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่เสมือน NOC ที่วันนี้มีการเติบโตและขยายตัวอย่างมาก หากมีการตั้งบรรษัทใหม่เข้ามาแล้วกรรมสิทธิ์พลังงานทุกชนิดมาอยู่ในบริษัทใหม่นี้วิสาหกิจและบริษัทพลังงานต่าง ๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ทั้งนี้ ในหนังสือที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ส่งแก่ สนช.ช่วงหนึ่งมีการระบุว่าการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ครม.มีการพิจารณาวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ซึ่งที่ประชุมมีมติได้เสนอต่อ สนช. แต่สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ นายกรัฐมนตรีขอให้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงาน สนช. ซึ่งตนได้เชิญกรรมาธิการมาพบเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 โดยมีผู้มาพบ 7 คนเป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน โดยทางกรรมาธิการมีข้อเสนอเรื่องจัดตั้ง NOC แต่ได้ยืนยันว่าจะเติมเรื่องให้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลและจะขอเสนอร่างที่ไม่มี NOC ไปยัง สนช.ตามที่ร่างไว้ หลังจากวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ก็ถูกให้พ้นจากตำแหน่ง โดยยังไม่ได้เสนอร่างกฎหมายต่อ สนช.แต่อย่างใด
“NOC จะเป็นยักษ์ตัวใหม่ขึ้นมา บรรษัทถือสิทธิ์ทุกอย่างเกี่ยวกับปิโตรเลียมถ้าฝ่ายการเมืองเข้ามาไม่ว่าจะผ่านกรมพลังงานทหาร หรือวิธีอื่นร้อยแปด ถามว่าเวลาทำอะไรไม่ชอบมาพากล ใครจะแก้ไขได้” ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการแถลงข่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังได้แจกรายชื่อผู้ที่จะตอบคำถามสื่อมวลชนต่อความเห็นการจัดตั้ง NOC 15 คน ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน, คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต, นายบรรยง พงษ์พานิช, นายเทวินทร์ วงศ์วาณิชย์ ซีอีโอ ปตท. โดยระบุว่าทั้ง 15 คนได้หารือกันและมองว่าหากตั้ง NOC จะเกิดปัญหาต่อประเทศระยะยาว.-สำนักข่าวไทย