สธ. 30 พ.ค.- ผอ.กองระบาดวิทยา เร่งแจ้งนิยามฝีดาษวานร และแนวทางการรักษา ห่วงหมอรุ่นใหม่ไม่รู้จักโรค เน้นไข้ ปวดตามตัว หรือมีตุ่มน้ำใส หนอง ร่วมกับประวัติทางระบาดวิทยา ส่วนไทยไร้คนป่วยติดเชื้อ มีแค่เฝ้าระวังลูกเรือและนักเดินทาง 12 คน หลังมีรายงานนักเดินทางชั้นธุรกิจไปออสเตรเลียต่อเครื่องที่ไทย กลับไปหลายวันติดฝีดาษวานร
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ฝีดาษวานร ว่า ขณะนี้ไทยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ แต่มีรายงานจากออสเตรเลียว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษวานร 1 คน ที่เดินทางต่อเครื่องบินที่ไทย โดยขณะเดินทางไม่มีอาการ เมื่อกลับถึงออสเตรเลียหลายวันถึงมีอาการ จึงทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังผู้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้เดินทางรายนี้ ซึ่งพบว่าเป็นนักเดินทางที่โดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจ ทำให้ไม่ได้มีการติดต่อกับคนมากนัก จึงมีการเฝ้าระวังลูกเรือและผู้โดยสารบนเครื่องบินที่ใกล้ชิด รวม 12 คน ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่า โรคฝีดาษวานร มีโอกาสพบในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีการเปิดประเทศ และมีการเดินทางเข้า-ออก ของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่วนการสอบสวนชายต่างชาติ 3 คน ชาวไอร์แลนด์ ที่เดินทางเข้าไทยก่อนหน้านี้ และมีลักษณะอาการเข้าข่ายฝีดาษวานร ผลการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจุฬาฯ พบเข้าได้กับเชื้อเริม สายพันธุ์ 1 ที่พบการติดเชื้อจากการสัมผัสกับผิวหนัง
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับชาย 3 คนนี้ พบเป็นพี่น้องกัน ทั้งหมดเดินทางเข้าไทยมาที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อเรียนชกมวย โดยขณะอยู่ฝึกชกมวยนั้น พบว่ามีหญิงชาวรัสเซีย 1 คน ที่มีอาการผื่น มาต่อยกระสอบทรายร่วมกัน หลังจากไม่นานมีอาการ และมีผื่นตามเอว แขน ใบหน้า และอาการไม่ดีขึ้น คนที่เป็นพี่ชาย ซึ่งมีอาชีพเป็นแพทย์ จึงเดินทางมารับการรักษาใน รพ.เอกชน และได้รับการรายงานผลตรวจเฝ้าระวัง ทั้งนี้ การตรวจยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษวานรนั้น ต้องมีผลตรวจ RT-PCR ยืนยัน เนื่องจากโรคฝีดาษไม่ได้พบมานานแล้ว ทำให้ต้องทำความเข้าใจกับแพทย์รุ่นใหม่ ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ไม่มีความรู้และเข้าใจโรคนี้ จึงต้องมีการจัดทำนิยามโรค และแนวทางการเฝ้าระวังโรค พร้อมย้ำว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่เป็นโรคประจำถิ่นของแอฟริกา โดยมีการระบาด 2 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ที่มีการติดเชื้อและแพร่ในขณะนี้ยังไม่มีใครเสียชีวิตนอกแอฟริกา
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ลักษณะอาการของโรคฝีดาษวานรนั้น จะต้องเข้าได้กับ 2 สักษณะ คือ 1. มีไข้ 38 องศาฯ หรือมีอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดคอ หรือมีต่อมน้ำเหลืองโต ร่วมกับประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วัน (เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาด โดยขณะนี้พบในไนจีเรีย อังกฤษ แคนาดา สเปน และโปรตุเกส) 2. มีตุ่มนูนขึ้นหน้า ลำตัว แขนขา เอว และตุ่มได้เปลี่ยนเป็นน้ำใส หรือหนอง จากนั้นตกสะเก็ด และยังต้องมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วัน (เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาด โดยขณะนี้พบในไนจีเรีย อังกฤษ แคนาดา สเปน และโปรตุเกส)
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า นิยามผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร แบ่งเป็น 1. ผู้ป่วยสงสัย ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าผู้ป่วย 2. ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย และ 3. ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยฝีดาษวานร ภายในระยะ 2 เมตร
ส่วนแนวทางการจัดการกับผู้ป่วย แบ่งเป็น 1. ผู้สงสัย ตรวจหาเชื้อตามแนวทางที่กำหนด ตรวจสอบประวัติเสี่ยง ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ 2. ผู้ป่วยเข้าข่าย สอบสวนโรคและพิจารณาแยกกักจนกว่าจะตรวจหาเชื้อไม่พบ และ 3. ผู้ป่วยยืนยัน รับการรักษาและพิจารณาแยกกัก 21 วัน
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมีรายงานพบผู้ป่วยยืนยัน 406 คน ผู้ป่วยสงสัย 88 คน รวม 494 คน พบใน 32 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ 101 คน เยอรมนี 22 คน สเปน 139 คน โปรตุเกส 74 คน และแคนาคา 63 คน ทั้งนี้ มีประเทศที่พบผู้ป่วยรายงานรายใหม่เมื่อวันที่ 29 พ.ค. คือ เม็กซิโก 1 คน ไอร์แลนด์ 1 คน เอกวาดอร์ 1 คน มอลตา 1 คน ปากีสถาน 1 คน. -สำนักข่าวไทย