กรุงเทพฯ 20 พ.ค.- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เผยโครงการ CFP เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 2567 ล่าช้า 1 ปี เหตุจากผลกระทบโควิด-19 คาดผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 65 ดีต่อเนื่อง หลังประเมินว่า GRM ยังอยู่ในระดับที่ดี
นางสาวทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน TOP เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2022 ถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project: CFP ) ว่า จะทำให้บริษัทมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ว่า ในขณะนี้มีความคืบหน้าร้อยละ 852 ล่าช้ากว่าแผนงาน และทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จจะล่าช้าไปจากแผนงินเดิม 1 ปีจากเดิมจะสามาเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566 ก็เลื่อนเป็นปี 2567 เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างในบางช่วงไม่สามารถก่อสร้างได้ ต้องหยุดการก่อสร้างบางช่วง อย่างไรก็ตามในขณะนี้เร่งดำเนินการการ ตกลงกับผู้รับเหมา(EPC) เร่งก่อสร้างในแล้วเสร็จเร็วที่สุด และสามารถทยอยทดลองเครื่องผลิตได้ในปี2566 ซึ่งคาดว่าโครงการ CFP น่าจะแล้วเสร็จทันกับช่วงจังหวะที่ค่าการกลั่นอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 คาดว่า จะดีขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เนื่องจากค่าการกลั่น(GRM) ยังอยู่ในระดับที่ดี และจะยังมีกำไรจากสตกอกน้ำมัน แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในระดับอ่อนตัวลงจากไตรมาส 1/2565 ขณะเดียวกันก็จะรับรับรู้รายได้จากแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. โดย ปตท. และ/หรือ บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้นทั้งหมด จะเข้าซื้อหุ้นสามัญ บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC จาก ไทยออยล์ เป็นจำนวน 304,098,630 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10.78% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GPSC ราคารวมประมาณ 22,351 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ ไทยออยล์ รับรู้กำไรพิเศษเข้ามาประมาณ 11,000 ล้านบาท
นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า กรณียานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น แต่การใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันยังมีต่อเนื่อง จะเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานจากต่างประเทศ ดังนั้น ยอดใช้รถอีวีจะเข้ามาทดแทนการใช้น้ำมันเบนซินได้นั้น ยังต้องใช้เวลา ราว 5-10 ปี ยังไม่กระทบ ส่วนตลาดโลกแม้จำนวนรถอีวีจะมีการใช้มากกว่า แต่ก็คาดว่าจะต้องใช้เวลา 7-10 ปีในการเปลี่ยนผ่านพอสมควรกว่าจะมีผลต่อธุรกิจของไทยออยล์ อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้ปรับตัวรับมือต่อกระแสดังกล่าว ด้วยการเดินหน้าโครงการ CFP ซึ่งจะมุ่งเน้นการผลิตน้ำมันเครื่องบิน และดีเซล เป็นหลัก
ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ปี 2565 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้น จากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 23.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีกำไรสตอกน้ำมัน 14,500 ล้านบาท และด้วยปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มไทยออยล์อยู่ที่ 303,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายและ EBITDA จำนวน 114,506 ล้านบาท และ 13,034 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำลังกลั่น 109% จากความต้องการน้ำมันฟื้นตัวขากโควิด-19 คลายตัว โดยจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 86 ส่งออกร้อยละ14. -สำนักข่าวไทย