กรุงเทพฯ 9 พ.ค. – อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผย ร่วมหารือกับนักวิชาการด้านนิเวศวิทยาทางทะเลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางอนุรักษ์โลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา โดยได้จัดทำร่างแผนการดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโลมาอิรวดี 14 ตัว สุดท้ายในทะเลสาบสงขลา เพื่ออนุรักษ์โลมาอิรวดีอย่างยั่งยืน ตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบ Zoom meeting ร่วมกับผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ผศ.ดร.สุชาย วรชนะนันท์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา ประมงจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา รวมถึงผู้แทนจากกรมอุทยานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายโสภณกล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา การสำรวจประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาตอนบน โดยการสำรวจทางเรือ และทางอากาศโดยเครื่องบินเล็กปีกตรึง และอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ตั้งแต่ปี 2558 – 2564 พบว่ามีแนวโน้มประชากรลดลง โดยในปี 2558 มีรายงานการพบประมาณ 27 ตัว แต่ปัจจุบันมีจำนวนเหลืออยู่ประมาณ 14 – 20 ตัว โดยสาเหตุการตายหลักเกิดจากการติดเครื่องมือประมง ถึงร้อยละ 60 หากสามารถลดอัตราการตายจากเครื่องมือประมงให้เป็นศูนย์ โดยคาดว่าประชากรโลมาอิรวดีจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 30 ตัว ภายใน 10 ปี และแต่ละหน่วยงานได้รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอร่างแผนการดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบ แผนงานระยะสั้น (2565-2566) ประกอบด้วย 5 แผนงาน ประกอบด้วย การลดภัยคุกคามโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดีและจัดทำพื้นที่หวงห้าม การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการสร้างจูงใจในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี การศึกษาวิจัยโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย และการช่วยชีวิตและดูแลรักษาโลมาอิรวดีเกยตื้น ในส่วนแผนงานระยะยาว (2566 – 2570) ประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดี โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา การพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย
อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายสถาบันวิจัยวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการปรับแผนเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว พร้อมจัดทำงบประมาณในการดำเนินการ อีกทั้งทำหนังสือขอความร่วมมือการปฏิบัติงานในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ไปยังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนศึกษาแนวทางการขอรับการจัดสรรงบประมาณ จากกองทุนสิ่งแวดล้อม และจัดทำร่าง MOU ความร่วมมือการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาร่วมกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมเจ้าท่า กรมประมง จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมประมง รายงานสถานการณ์และความวิกฤตของสถานภาพโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา และขอความร่วมมือกรมประมงให้งดเว้นการปล่อยพันธุ์ปลาบึกในทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้จะประสาน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ปรับแผนการดำเนินงานโครงการ Ocean for life ให้ขยายกิจกรรมครอบคลุมไปถึงการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาต่อไป.-สำนักข่าวไทย