กรุงเทพฯ 5 เม.ย. -ThaiBMA คาดหุ้นกู้เอกชนปีนี้แตะ 1 ล้านล้านบาท หวังดอกเบี้ยต่ำ ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยขาดขึ้น ด้านPTTEP เพิ่มวงเงินออกหุ้นกู้เป็น 1.2 หมื่นล้านบาท เหตุยอดจองพุ่งเกิน 2 เท่า
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า คาดว่ายอดการออกและเสนอขายหุ้นกู้เอกชนในปีนี้จะสูงถึง 1 ล้านล้านบาทเช่นเดียวกับปี 64 ที่มียอด 1.3 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการออกเพื่อคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้ เนื่องจากมองว่ามีโอกาสที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
โดยในช่วงไตรมาส 1/65 มียอดการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชน 268,746 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 65 มีการซื้อสุทธิ สะสมจนถึงวันที่ 23 ก.พ.65 สูงกว่า 1.45 แสนล้านบาท ก่อนที่จะพลิกกลับมาเป็นการขายออกตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. และตลอดเดือน มี.ค. หลังเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็การลงทุนสะสมสุทธิของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาส 1 ยังคงเป็นบวก มียอดการซื้อสะสมสุทธิที่ 23,751 ล้านบาท ทำให้ต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1/65 ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.9% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย โดยกว่า 90% เป็นการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี
สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond yield) ตั้งแต่ต้นปีมีการปรับตัวในทิศทางขาขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศยืนยันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีผลให้ Bond yield ไทยขยับขึ้นตาม Bond yield สหรัฐฯ โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/65 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี อยู่ที่ 0.92% และ รุ่นอายุ 10 ปี ที่ 2.35% เป็นการปรับตัวสูงขึ้น 26 bps. และ 45 bps. ตามลำดับจากสิ้นปีที่แล้ว
ส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ของหุ้นกู้อายุ 5 ปี ปรับตัวลดลงในไตรมาส 1 ทุกอันดับเครดิต แต่จากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้ผู้ออกมีต้นทุนการออกหุ้นกู้ (Corporate bond yield) สูงขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา และเริ่มมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงกว่าก่อนโควิดเล็กน้อย โดยหุ้นกู้อายุ 5 ปี เรทติ้งกลุ่ม AAA, AA, A, BBB มีต้นทุนดอกเบี้ยโดยเฉลี่ย 2.13%, 2.48%, 2.78% และ 4.57% ตามลำดับ
“สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ผ่านมามีผลกระทบโดยตรงต่อตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างจำกัด แต่มีผลกระทบทางอ้อมส่งผ่านไปทางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น จนอาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในอนาคต และทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนมีผลให้ Bond yield มีแนวโน้มขยับขึ้นสูงและเร็วกว่าที่คาด” นางสาวอริยากล่าว
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่าบริษัท ปตท.สผ. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เสนอขายหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ มีผู้ค้ำประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่า 10,000 ล้านบาท ให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.65 โดยมียอดจองซื้อเข้ามาสูงถึง 2 เท่าของมูลค่าเสนอขาย บริษัทจึงตัดสินใจเพิ่มหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe option) อีก 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ตอบแทนสม่ำเสมอท่ามกลางสภาวะตลาดที่ผันผวน รวมมูลค่าหุ้นกู้ที่เสนอขายสำเร็จในวันที่ 5 เม.ย.65 ที่ 12,000 ล้านบาท
หุ้นกู้ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ หุ้นกู้อายุ 5 ปี, 7 ปี และ 10 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.09%, 2.69% และ 3.05% ต่อปี ตามลำดับ และการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ ปตท.สผ. เป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ทั้งจำนวน
ปตท.สผ. และบริษัทในกลุ่ม ยังคงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าว สู่สังคมดิจิทัล จึงได้นำระบบสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้แบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bookbuilding) ที่พัฒนาโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มาใช้ในกระบวนการการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้ออกหุ้นกู้พิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้ง สามารถแจ้งผลการจัดสรรไปยังผู้ลงทุนได้อัตโนมัติ นับเป็นอีกก้าวของการนำเทคโนโลยี มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน และการประมวลผลข้อมูลสำหรับธุรกรรมในตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ระดับ “AAA” ซึ่งถือเป็นอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดของประเทศ จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยมีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกสิกรไทย ร่วมเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ .-สำนักข่าวไทย