กรุงเทพฯ 9 ก.ค. 63 – ตลาดตราสารหนี้ไทยครึ่งปีแรกยังขยายตัวได้ 1.25% แม้เผชิญการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ครึ่งปีหลังมองว่าเอกชนยังมีความต้องการออกหุ้นกู้เพื่อเตรียมสภาพคล่องรับความไม่แน่นอน แต่ทั้งปี63ต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ที่ 800,000 ล้านบาท พร้อมคาด กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% จนถึงสิ้นปี
นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2563ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้กิจกรรมทาง เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมาก แต่ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงขยายตัวได้ 1.25% จากการระดมทุนเพิ่มขึ้นของภาครัฐ ในขณะที่ภาคเอกชนชะลอการเสนอขายหุ้นกู้ออกไป ทำให้ยอดการออกตราสารหนี้ ภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีแรกเท่ากับ 3.23 แสนล้านบาท ลดลง 43%
ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้จากนักลงทุนต่างประเทศ (Fund flow) ช่วงครึ่งปีแรก ลดลง 108,460 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิทั้งในตราสารหนี้ระยะยาว 61,075 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะสั้น 47,390 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 2 นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยรวมทั้งสิ้น 811,070 ล้านบาท ลดลง 10.45% จากสิ้นปี 62 โดยเดือนมิถุนายน นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อตราสารหนี้ไทยอีกครั้ง หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนแรกของปี ส่วนช่วงที่เหลือของปี มองว่าจะมีเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาบ้าง แต่ไม่มาก แม้นักลงทุนจะมองว่าไทยมีความเสี่ยงลดลง แต่ยังคงต้องลงทุนอย่างระมัดระวังเพราะยังมีความไม่แน่นอนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในต่างประเทศ อีกทั้งส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยและสหรัฐไม่มากพอที่จะดึงให้เงินไหลเข้ามาไทยมาก
สำหรับแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ช่วงครึ่งปีหลัง นายธาดา คาดว่า บริษัทเอกชนไทยยังมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทำให้คาดว่าทั้งปีจะมีมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวประมาณ 800,000 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 850,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้นนโยบายในระดับต่ำที่ 0.50% ต่อไปจนถึงสิ้นปี เพื่อลดความเสี่ยงจากกับดักสภาพคล่อง โดยมองว่าแบงก์ชาติยังมีเครื่องมืออื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมมองว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ทำให้มีโอกาสที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะต่ำลง และอาจผันผวนได้ หากเกิดความกังวลเพิ่ม เช่น สงครามการค้าจีน-สหรัฐ พร้อมแนะรัฐบาลระดมเงินทุนเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านช่องทางอื่น เช่น กู้เงินจากต่างชาติ หรือ สถาบันการเงินในประเทศ เพื่อลดการกระจุกตัวผ่านการระดมทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาล .- สำนักข่าวไทย