กรุงเทพฯ 31 มี.ค. -ไทยออยล์ประเมินราคาน้ำมันดิบปีนี้ไม่ต่ำกว่า 95 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ชี้ปีนี้เป็นปีทอง หลังดีมานด์พุ่ง มาร์จิ้นขยับสูง เดินหน้าลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่ม และรองรับการใช้น้ำมันของโลกลดลงในอนาคต หลัง “อีวี” มาไว คาดแผนเพิ่มทุนชัดเจนไตรมาส 3/65
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีทองของไทยออยล์ เนื่องจากมาร์จิ้นขยับดีขึ้นมาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกพลิกฟื้น ความต้องการน้ำมันขยับดีขึ้น หลังจากเกิดปัญหาโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เหตุการณ์ “ยูเครน-รัสเซีย” ก็กระทบต่อราคาพลังงานสูงขึ้น โดยไทยออยล์ประเมินว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบจากนี้ไป หากกรณีสงครามยืดเยื้อ ราคาเฉลี่ยปีนี้มีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปที่ระดับ 110-115 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หากสถานการณ์คลี่คลาย ราคาน้ำมันดิบอาจจะปรับลดลงอยู่ในระดับไม่เกิน 95-100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนกรณีที่ภาครัฐเตรียมให้เพิ่มสำรองน้ำมันดิบทางกฎหมายจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 5 เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 นั้นก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ไทยออยล์มีความพร้อมในการดำเนินการ
ส่วนเรื่องการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ในขณะนี้มีความนิยมเพิ่มมากขึ้น นายวิรัตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็กระทบต่อยอดการใช้น้ำมันในอนาคต ซึ่งจากนี้ไปจนถึงปี 2565 จำนวนรถยนต์อีวี ยังมีสัดส่วนต่ำในไทย มีประมาณร้อยละ 2 ของรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งเพื่อรับเรื่องนี้ ไทยออยล์ได้เตรียมแผนงาน ต่อยอดธุรกิจจากพื้นฐานด้านการกลั่นที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ ไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง กระจายผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการ โดยเจาะลึกในตลาดภูมิภาคที่มีความต้องการสูง รวมถึงกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีความผันผวนต่ำ และลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนของกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่อีก 10% ภายในปี พ.ศ. 2573
ทั้งนี้ ดำเนินการผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน (3Vs) ได้แก่ 1) การเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ผ่านโครงการ CFP (Clean Fuel Project) และต่อยอดธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและ High Value Product (HVP) ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (“CAP”) ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นก้าวแรกสู่การลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์
2) การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า ผ่านฐานลูกค้าในภูมิภาคที่มีอยู่เดิม กระจายผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการโดยเจาะลึกในตลาดภูมิภาคที่มีความต้องการสูง เตรียมฐานลูกค้าเพื่อรองรับหลังจากโครงการ CFP แล้วเสร็จ
3) การกระจายการเติบโต หาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) ลงทุนผ่าน Corporate Venture Capital (CVC) และลงทุนในธุรกิจใหม่ (Step Out) เช่น Biofuel, Biochem, Bioplastic และ Hydrogen
“การขยายตลาดไปประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการสนองต่อตลาดที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจำนวนมาก ปัจจุบัน CAP มีกำลังการผลิตรวม 4.23 ล้านตันต่อปี และมีแผนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 (CAP2) รองรับเป้าหมายขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 8 ล้านตันต่อปี ภายในปีพ.ศ. 2569 โครงการนี้มี บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ร่วมทุนด้วย ในขณะเดียวกัน บริษัทยังพูดคุยกับ SCC เพื่อหาโอกาสการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กที่ประเทศเวียดนาม”นายวิรัตน์กล่าว
นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี TOP เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวให้แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยเตรียมแผนไว้ 2 ส่วน คือ การขายหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จำนวน 304 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC มูลค่ารวม 22,351 ล้านบาท คาดบริษัทจะบันทึกกำไรจากการขายหุ้น GPSC ในครั้งนี้ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทในช่วงไตรมาส 2/2565 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) จำนวนไม่เกิน 239 ล้านหุ้น และเตรียมกรีนชูอีกจำนวนไม่เกิน 35.885 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถแกหุ้นเพิ่มทุนได้ภายในไตรมาส 3/2565 โดยบริษัทจะนำเงินจากทั้งสองส่วน เพื่อใช้สำหรับชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมระยะสั้น (bridge loans) จากการลงทุนใน CAP จำนวน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้ประมาณ 700 ล้านบาทและลดอัตราส่วนระหว่างหนี้สินสุทธิต่อทุนของบริษัทฯ (Net Debt-to-Equity Ratio: D/E) ให้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.4 เท่า และคงอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit rating) ให้อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment grade) ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ บริษัทจะต้องใส่เงินลงทุนในโครงการลงทุน CAP 2 หากบริษัทร่วมทุนตัดสินใจลงทุนชัดเจน โดย วงเงินที่จะต้องใช้เพิ่มอีกประมาณ 270 ล้านเหรียญสหรัฐในต้นปี 2566 ซึ่งจะเป็นเงินจากกระแสเงินสดภายในบริษัท จากที่ก่อนหน้านี้ได้ใช้เงินเข้าไปลงทุนแล้วกว่า 913 ล้านเหรียญสหรัฐ .-สำนักข่าวไทย