กรุงเทพฯ 29 มี.ค.- กรมปศุสัตว์แนะนำเกษตรกรทำอาหารสัตว์โดยใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ แต่ย้ำให้ใช้วัตถุดิบแต่ละชนิดในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์ พร้อมให้สำนักพัฒนาอาหารสัตว์จัดหน่วยให้บริการเคลื่อนที่ไปแนะนำเกษตรกรถึงฟาร์ม
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์พัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทยเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น มันสำปะหลัง (มันเส้น กากมัน) ข้าว (ปลายข้าว ข้าวกล้อง ข้าวกะเทาะเปลือก) ข้าวโพด รำข้าว กากปาล์ม เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางลดต้นทุนการผลิตปศุสัตว์ของเกษตรกรรายย่อย พร้อมกันนี้ส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น ลดปริมาณการสูญเสียอาหารสัตว์ในขึ้นตอนการผลิต และบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ร่วมกันกับเกษตรกรรายอื่นเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยลงให้ได้มากที่สุดเช่นการใช้หัวอาหารสัตว์ซึ่งเป็นอาหารข้นที่มีการผสมสูตรให้มีค่าโปรตีนสูง เกษตรกรสามารถนำไปผสมกับวัตถุดิบแหล่งพลังงานที่สามารถหาได้เองในท้องถิ่นได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวเปลือกที่มีในยุ้งฉางที่บ้านนำมากะเทาะเปลือก ปลายข้าวหัก รำ เป็นต้น โดยสามารถนำมาผสมเป็นอาหารไก่ไข่และสุกรได้
ทั้งนี้ขอย้ำว่า วัตถุดิบบางชนิดมีข้อจำกัดในการใช้ผลิตอาหารสัตว์ หากใช้ปริมาณที่ไม่เหมาะสมอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพสัตว์ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ได้ ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงสั่งการให้สำนักพัฒนาอาหารสัตว์จัดหน่วยให้บริการเคลื่อนที่ไปถึงฟาร์มเกษตรกรเพื่อแนะนำการให้อาหารสัตว์และการปรับสูตรอาหารสัตว์ อีกทั้งติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาอาหารสัตว์หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ของกรมปศุสัตว์ 33 แห่งทั่วประเทศ โทร 02-501-1148 นอกจากนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของสูตรอาหารสัตว์ลดต้นทุนของอาหารสุกร สัตว์ปีก โคเนื้อ และโคนมทางเว็บไซต์ https://nutrition.dld.go.th หรือศึกษาสูตรอาหารสัตว์ที่ https://nutrition.dld.go.th/nutrition/index.php/2015-08-06-09-04-25
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวถึงความต้องการใช้อาหารสัตว์ตามชนิดสินค้าปศุสัตว์ในปี 2565 ประมาณ 22.41 ล้านตัน ส่วนในปี 2566 ประมาณ 23.27 ล้านตัน โดยอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อมีความต้องการใช้อาหารสัตว์มากถึงร้อยละ 40 ตามด้วยอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรร้อยละ 34 และไก่ไข่ร้อยละ 11 ซึ่งทำให้ความต้องการวัตถุดิบหลักอาหารสัตว์ได้แก่ ข้าวโพดเมล็ด กากถั่วเหลือง ปลายข้าว และปลาป่นยังคงเพิ่มขึ้นทั้งในปี 2565 และ 2566 แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาสูงขึ้น
ดังนั้นการที่เกษตรกรปรับสูตรอาหารสัตว์โดยใช้วัตถุดิลในประเทศจึงช่วยลดต้นทุนราคาอาหารสัตว์ได้ ขณะเดียวกันแนะนำสผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ให้เพิ่มการซื้อและใช้วัตถุดิบพืชอาหารสัตว์ภายในประเทศ เช่น ข้าวและผลพลอยได้จากข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอาหารสัตว์และยกระดับการผลิตวัตถุดิบพืชอาหารสัตว์ในประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย