กรุงเทพฯ 10 มี.ค. – สนามบินสุวรรณภูมิร่วมกับสายการบินผู้ให้บริการภาคพื้นและตำรวจชี้แจงข้อเท็จจริงด้านการบริหารจัดการขนถ่ายสัมภาระผู้โดยสาร และมาตรการป้องกันการลักทรัพย์จากกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เล็งตั้งบริษัทลูกแก้ปัญหารื้อค้นลักทรัพย์ผู้โดยสารผ่านระบบตรวจค้น
นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พร้อมด้วยนายหลุยส์ มอเซอร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ นางภัครา เรืองศิระเดโช ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) น.ท.สุธน ยาปาน ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคง บริษัท บริการภาคพื้น การบินกรุงเทพ เวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS) และ พ.ต.อ. มนเทียร เบ้าทอง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมแถลงข่าวมาตรการการป้องกันการลักทรัพย์จากกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร
นายศิโรตม์ เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้เผยแพร่ข้อความภาพและคลิปวิดีโอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทั้งทางไลน์ และทางเฟสบุ๊คในนามว่า Montakan Tangsanga เตือนภัยผู้ใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ไม่ให้ใส่ทรัพย์สินของมีค่าไปในกระเป๋าสัมภาระ เนื่องจากกระเป๋าของผู้โพสต์และผู้เดินทางในคณะบางคนถูกรื้อค้นและแม่กุญแจถูกตัด โดยผู้โพสต์ไปร้องเรียนเจ้าหน้าที่สายการบินและลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว ซึ่งข้อความดังกล่าวได้รับการเผยแพร่และถูกแชร์อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ ทสภ.อย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชนและสาธารณชนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการดูแลรักษาความปลอดภัยผู้โดยสารและทรัพย์สินสัมภาระของผู้โดยสารที่ใช้บริการ ณ ทสภ. ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ทสภ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้โดยสารชื่อว่า Ms.Jantarash Arunnaveesiri, Montakan Tangsanga และคุณอวยชัย ตั้งสง่า โดยผู้โดยสารได้เดินทางโดยสายการบินพีช เอวิเอชั่น เที่ยวบิน MM 990 จาก ทสภ. ปลายทางโอกินาวา เมื่อคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่ากระเป๋าสัมภาระถูกรื้อค้นและได้รับความเสียหาย จึงต้องการให้สายการบินฯ รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อภายหลังได้รับข้อร้องเรียนดังกล่าว ทสภ. ได้มีหนังสือแจ้งสายการบินให้ทราบเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้ดำเนินการตรวจสอบภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และสายพานคัดแยกกระเป๋า (Make Up Unit : MU) เพื่อดูภาพกระเป๋าของผู้ร้องเรียนย้อนหลัง ซึ่งไม่พบความผิดปกติหรือมีผู้ใดไปแตะต้องกระเป๋าดังกล่าวในระหว่างอยู่ในระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าที่อยู่ในการดำเนินงานของ ทสภ. แต่อย่างใด
โดยกระเป๋าของผู้ร้องเรียนทั้ง 3 ใบ ใช้ระยะเวลาลำเลียงประมาณ 11 – 17 นาที ซึ่งเป็นเกณฑ์เวลาปกติ (เวลาปกติ กระเป๋าจะใช้เวลาเฉลี่ยอยู่บนสายพานฯ 10 – 15 นาที และหากช่วงเวลาที่มีกระเป๋าอยู่บนสายพานจำนวนมาก จะใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 15 -20 นาที ) อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นกระเป๋าดังกล่าวถูกพนักงานขนถ่ายสัมภาระของสายการบิน ซึ่งดำเนินการโดย BFS ขนเข้ารถ Dolly นำไปขึ้นเครื่องต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินงานในส่วนที่ ทสภ. รับผิดชอบไม่ได้สร้างความเสียหายต่อกระเป๋าของผู้ร้องเรียนแต่อย่างใด สำหรับความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริงขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายศิโรตม์ กล่าวว่า การดำเนินงานด้านการขนถ่ายสัมภาระและดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินและสัมภาระของผู้โดยสารตามมาตรฐานสากลทั่วโลกถือปฏิบัติต้องเป็นหน้าที่ของสายการบิน โดยในส่วนของประเทศไทยกำหนดความรับผิดชอบอย่างชัดเจนไว้ในแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (NATIONAL CIVIL AVAITION PROGRAMME) ข้อ 8.2.5 ระบุว่า “ การปกป้องสัมภาระลงทะเบียน (Hold Baggage) 1. ผู้ดำเนินการเดินอากาศ ต้องแน่ใจว่าจะรับสัมภาระฯ เฉพาะผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสาร และเฉพาะจากตัวแทนที่มีความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวหรือตัวแทนที่ได้รับอนุญาตจากผู้ดำเนินการเดินอากาศ 2. สัมภาระฯ ทุกชิ้นที่จะถูกพาไปกับอากาศยานจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการแทรกแซงที่ผิดกฎหมาย นับจากจุดตรวจค้นหรือจากจุดที่รับสัมภาระฯ ดังกล่าวมาอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการเดินอากาศ จากสนามบินต้นทางรวมถึงอากาศยานเปลี่ยนลำจนกระทั่งถึงจุดที่สัมภาระฯ ถูกส่งคืนให้ผู้โดยสาร ณ จุดปลายทาง หรือ ณ จุดแวะเปลี่ยนสัมภาระฯ ดังกล่าวไปอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ดำเนินอากาศ ” และแผนรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน (AIRPORT SECURITY PROGRAMME : ASP) 5.10 ผู้ดำเนินการเดินอากาศ ข้อ 5.10.2 ระบุว่า “หน้าที่รับผิดชอบเฉพาะของผู้ดำเนินการเดินอากาศ มีดังนี้ ข้อ (ฉ) แน่ใจว่าสัมภาระที่จะเก็บใต้ท้องอากาศยานที่ได้รับการตรวจค้นแล้วนั้นได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากทางเข้าออกที่ไม่ได้รับอนุญาต จุดตรวจรับบัตรโดยสาร จุดตรวจค้นหรือสิ่งใดก็ตามก่อนหน้านี้ จนกระทั่งถูกนำขึ้นบรรจุที่เก็บสัมภาระใต้ท้องอากาศยานและต่อจากนั้นจนกระทั่งถูกส่งไปให้ผู้โดยสารยังจุดหมายปลายทางได้รับเรียบร้อย ”
อย่างไรก็ตาม ทสภ.ในฐานะผู้ให้บริการท่าอากาศยานจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ทสภ.ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการอันดับหนึ่ง และมีการกำหนดมาตรการการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่คัดแยกกระเป๋าสัมภาระ (Sorting Area) อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการลักทรัพย์สินจากสัมภาระผู้โดยสาร โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตรวจตราดูแลในพื้นที่ การจัดให้มีชุดตรวจร่วมรักษาความปลอดภัยในบริเวณพื้นที่คัดแยกกระเป๋า ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทสภ. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากฝ่ายบริการภาคพื้นอุปกรณ์ภาคพื้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์เซอร์วิส จำกัด (BFS) การควบคุมช่องทางเข้า – ออกของผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการตรวจสอบพนักงานขนถ่ายสัมภาระที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในเขตการบินจะต้องมีการตรวจบัตรรักษาความปลอดภัยสำหรับบุคคลและยานพาหนะ ที่ผ่านเข้า – ออก ทุกครั้ง รวมทั้งมีการตรวจค้นร่างกายบุคคลและยานพาหนะอย่างละเอียด ทั้งก่อนเข้าและก่อนออกจากพื้นที่ เพื่อป้องกันการลักลอบนำทรัพย์สินที่ขโมยออกนอกพื้นที่ การกำหนดชุดเครื่องแบบสำหรับพนักงานขนถ่ายสัมภาระต้องไม่มีกระเป๋าติดกับเสื้อผ้ารวมทั้งจะต้องกำหนดรหัสพนักงานและสัญลักษณ์สังกัดของผู้ปฏิบัติงานอย่างชัดเจน รวมถึงมีข้อห้ามไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานนำทรัพย์สินติดตัวเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติงาน โดย ทสภ. จะอนุญาตเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น อาทิ ปากกา ยา ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น และหากมีความจำเป็นต้องนำสิ่งของเข้าพื้นที่ อาทิ กล้องถ่ายรูป โน็ตบุ๊ค หรือแท็ปเล็ต ต้องสำแดงและบันทึกไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
นายศิโรตม์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การดูแลรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่คัดแยกกระเป๋าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทสภ.ยังได้มีการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์ดำเนินงานของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากพบเห็นเหตุการณ์ผิดปกติจะเข้าระงับเหตุโดยทันที ทั้งนี้ ทสภ.ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทสภ. ได้มีการถือปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด และหากมีการพบการกระทำความผิด ทสภ.จะยึดบัตรรักษาความปลอดภัยบุคคล และนำรายชื่อขึ้นบัญชีดำ (Black List) ในระบบการออกบัตรรักษาความปลอดภัย เพื่อไม่ให้บุคคลดังกล่าวสามารถเข้าพื้นที่เขตห้ามของ ทสภ. ได้อีก รวมทั้งส่งตัวผู้กระทำความผิดดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทสภ.ได้มีการประชุมร่วมกับบริษัทให้บริการภาคพื้น (Ground Handling) ที่ได้รับสัมปทานจาก ทสภ. 2 ราย คือ ฝ่ายบริการภาคพื้นอุปกรณ์ภาคพื้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์เซอร์วิส จำกัด (BFS) ให้กำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด มีการดำเนินงานที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ ทอท. กำหนด ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถควบคุมดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน และปล่อยให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวอีก ซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ ทสภ.และประเทศชาติ ทอท.ในฐานะผู้ให้สิทธิ์จะพิจารณายกเลิกสัญญาได้ นอกจากนี้ ทอท. กำลังพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการจัดตั้งบริษัทลูกเข้ามาบริหารจัดการดูแลด้านการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารรวมทั้งดูแลรักษาความปลอดภัยด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถควบคุมและป้องกันดูแลความปลอดภัยทรัพย์สินของผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย