กรุงเทพฯ 25 มี.ค.- ปลัดกระทรวงเกษตรฯ คาดคณะทำงานพิจารณาปรับราคาจำหน่ายปุ๋ยของกระทรวงพาณิชย์จะมีข้อสรุปได้ภายในสิ้นเดือน มี.ค. เพื่อให้ผู้ประกอบการเร่งนำเข้าแม่ปุ๋ยมาใช้ในฤดูการผลิตนี้ เช่นเดียวกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งมีคณะทำงานพิจารณาปริมาณนำเข้าข้าวสาลี คาดว่าจะกำหนดปริมาณที่แน่นอนได้ในระยะเวลาเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมให้ข้อมูลในคณะทำงานพิจารณาแก้ปัญหาปุ๋ยและวัตถุดิบอาหารสัตว์ ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หลังจากปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์จะปรับเพดานราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนนำเข้าแม่ปุ๋ยมาจำหน่ายในฤดูการผลิตนี้ และป้องกันปัญหาปุ๋ยเคมีขาดตลาด ซึ่งคาดว่าจะกำหนดเพดานราคาใหม่ได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้
ส่วนที่มีความกังวลว่า การนำเข้าแม่ปุ๋ยจะไม่ทันต้นฤดูกาลทำนาปี ซึ่งจะเริ่มในเดือนพฤษภาคมนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้สำรวจสตอกปุ๋ยแล้ว พบว่ายังมีพอใช้ โดยเฉพาะยูเรีย ซึ่งชาวนาจะใช้เร่งการเติบโตของต้นข้าวหลังหว่าน ส่วนปุ๋ยสูตรอื่นๆ คาดว่าจะทยอยนำเข้ามาตรงกับความต้องการใช้แต่ละช่วงเวลา เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีความต้องการปุ๋ยแตกต่างกันตามระยะการเติบโต สำหรับกระทรวงเกษตรฯ เร่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพให้ได้ 5 ล้านตัน เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี โดยจะมี 2 แนวทาง คือ
1. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมีทั้งหมด
2. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพผสมผสานกับปุ๋ยเคมี
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จะร่วมกับกรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูง ตามหลัก “4 ถูก” คือ ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี
นายทองเปลว ย้ำว่า เกษตรกรไม่ต้องกังวล หากราคาปุ๋ยเคมีจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินโครงการ “อุดหนุนปุ๋ย” ด้วยการให้เข้าถึงปุ๋ยในราคาถูก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต้นทุนการผลิต ทั้งหมดเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ห้ามไม่ให้เกิดปัญหาปุ๋ยขาดแคลนเด็ดขาด
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์แพงและขาดแคลน จากการประชุมร่วมของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เห็นร่วมกันว่า ให้ชะลอการใช้ “มาตรการ 3:1” คือ การกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน ของกระทรวงพาณิชย์ไว้ชั่วคราว จนถึง 31 กรกฎาคม 2565 ดังนั้น คาดว่า คณะทำงานที่กรมการค้าภายในจัดตั้งขึ้น โดยมีผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ จะสามารถกำหนดช่วงเวลาและปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรไทย โดยผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ต้องไม่ได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตตกต่ำ ส่วนผู้เลี้ยงปศุสัตว์มีอาหารสัตว์เพียงพอใช้
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์ตรวจสตอกทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์และอาหารสัตว์สำเร็จรูป พบว่า ยังมีเพียงพอใช้ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ซึ่งหากการพิจารณานำเข้าข้าวสาลีเพิ่มมีความชัดเจนแล้ว สถานการณ์อาหารสัตว์ขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้นจะคลี่คลาย
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังเร่งเผยแพร่สูตรอาหารที่ปรับใหม่ โดยใช้วัตถุดิบในประเทศทดแทน เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปลายข้าวและข้าวเปลือกบด ซึ่งจะแก้ปัญหาอาหารสัตว์ขาด และยังเป็นการช่วยเหลือชาวนาปลูกข้าวอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย