กรุงเทพฯ 22 มี.ค. -ครม.เห็นชอบมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ ช่วย SMEs กู้เงินจาก พ.ร.ก. Soft Loan หวัง SMEs กว่า 67,400 ราย มีสินเชื่อจากแบงก์ ออกสู่ระบบ 84,000 ล้านบาท
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ซึ่งประกอบด้วย 1)โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan Extra (โครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra) 2)ปรับปรุงการดำเนินโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส พร้อมทั้งอนุมัติวงเงินรวม 15,854 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan เริ่มครบกำหนด 2 ปี และต้องชำระเงินกู้ทั้งจำนวนตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 ให้ได้รับสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง รายละเอียดแต่ละโครงการมีดังนี้
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan Extra (โครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra) วงเงินค้ำประกันรวม 90,000 ล้านบาท เป็นโครงการใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ที่จะครบกำหนดเวลาการชำระหนี้คืนให้ยังคงได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยมีอายุการค้ำประกันไม่เกิน 8 ปี วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกินยอดสินเชื่อคงค้างล่าสุด หรือไม่เกินวงเงินสินเชื่อในกรณีเป็นสินเชื่อประเภทหมุนเวียน ตาม พ.ร.ก. Soft Loan
สามารถยื่นคำขอค้ำประกันสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566 โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ใน 2 ปีแรก อัตราร้อยละ 0.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกัน (รวมร้อยละ 1.5) ทั้งนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ขอรับการชดเชยความเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริงจากรัฐบาลเป็นจำนวนเงิน 15,750 ล้านบาท โดย บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันโครงการ คาดว่า โครงการนี้จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 67,400 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 84,000 ล้านบาท
สำหรับการปรับปรุงการดำเนินโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan พลัสนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ ที่ต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2565 โดยปรับปรุงเฉพาะในส่วนของค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ จากเดิมที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในต้นปีที่ 3 ร้อยละ 1.75 ต่อปี ปรับปรุงเป็น ให้รัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 0.75 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ในปีที่ 3 และปีที่ 4 นับจากวันที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan โดยผู้ประกอบการ SMEs จะรับภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมเหลือเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งนี้ บสย.ขอรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อจากรัฐบาล จำนวน 104.27 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย