กรุงเทพฯ 15 มี.ค.-การเงินในยุคดิจิทัลกำลังมาแรง ธุรกรรมผ่านสาขาลดลงไป 30-40% ทำให้แบงก์ต้องปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4.0 สาขาธนาคารจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร ติดตามจากรายงาน
จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมีนาคม 2560 พบว่า สาขาธนาคารพาณิชย์ไทยลดลงไป 83 แห่ง จากจำนวน 7,063 แห่งในปี 2558 เหลือ 6,980 แห่ง ซึ่งธนาคารทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และธนาคารเพื่อรายย่อยต่างก็ลดสาขาลง หลังจากเทคโนโลยีดิจิตัล ทั้งอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และโมบาย แบงก์กิ้ง เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน เพราะเพียงแค่คลิกเดียวก็ทำธุรกรรมทั้งฝาก ถอน โอน จ่าย ได้ทันที
ขณะที่สาขาธนาคารที่ยังเปิดบริการ ได้มีการปรับขนาดให้เล็กลง และนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาทำหน้าที่แทนคน เช่น ธนชาต Express ที่ใช้พนักงานเพียงแค่ 2 คน คอยแนะนำลูกค้าที่มาใช้บริการเครื่องฝากถอนอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีเคาน์เตอร์ฝากถอนเหมือนในอดีต
ส่วนสาขาในห้างสรรสินค้า ยังได้รับความนิยมสูง เพราะลูกค้าใช้บริการได้ง่าย แต่หลายแบงก์ก็ปรับการบริการเน้นให้คำปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล การบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth Management ตามพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งจากนี้ไปพนักงานธนาคารจะต้องผ่านการอบรมและให้คำแนะนำกับลูกค้าได้
รูปแบบสาขาของธนาคารยังเน้นให้มีเครื่องมือทำธุรกรรมด้วยตัวเอง (Self Service Machine) เช่น สาขาธนาคารไทยพาณิชย์ ลาดพร้าว 59 ที่นำเอาเครื่องรับฝากเช็คอัตโนมัติ ที่รับฝากสูงสุดได้ถึง 30 ใบ มาช่วยให้เอสเอ็มอีประหยัดเวลา ไม่ต้องรอฝากเช็คที่หน้าเคาน์เตอร์
ส่วนธนาคารต่างชาติอย่างซีไอเอ็มบีไทย รุกลูกค้ารายย่อย นำบริการฝาก ถอน ตลอด 24 ชั่วโมง มาไว้ที่ร้านสะดวกซื้อ อำนวยความสะดวกลูกค้าเต็มที่ และจะปรับสาขาปกติเป็นรูปแบบ Wealth Center เน้นให้คำปรึกษากลุ่มลูกค้าที่สนใจการออม การลงทุนเป็นหลัก ยิ่งทำให้สนามแข่งขันของธนาคารเข้มข้นมากขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือต้องรักษาฐานลูกค้าเก่า และเพิ่มลูกค้าใหม่ ซึ่งเป็นโจทย์หลักในยุคดิจิทัลแบงก์กิ้ง.-สำนักข่าวไทย