กรุงเทพฯ 5 มี.ค.- ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ชี้ “กฎหมายคูฮารา” ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกับคดีของแตงโมได้ เนื่องจากสาระสำคัญระบุถึงทรัพย์มรดกที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิต แต่กรณีของแตงโม เป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิต
หลังนางภนิดา ศิริยุทธโยธิน แม่นักแสดงสาว “แตงโม ภัทรธิดา” ที่พลัดตกเรือเสียชีวิต ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ตนได้เป็นผู้จัดการมรดกของลูกสาวเป็นที่เรียบร้อย ทำให้ผู้คนในสังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันล้นหลาม และมีการเชื่อมโยงกรณีดังกล่าวเข้ากับ “กฎหมายคูฮารา” ของเกาหลีใต้ด้วย
“กฎหมายคูฮารา” เป็นการตั้งชื่อตาม คู ฮา-รา (Goo Hara) นักร้องนักแสดงหญิงผู้ล่วงลับ อดีตสมาชิวงคารา ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งจากไปด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อปี 2562 ที่บ้านพักส่วนตัวเขตกังนัม ผลการชันสูตรศพของเธอ ไม่พบอะไรผิดปกติ ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ ทั้งยังพบจดหมายลาที่เขียนด้วยตัวเธอเอง โดยมีเนื้อระบายความอัดอั้นเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัวภายในครอบครัว
ต่อมาในปี 2563 แม่แท้ๆ ของ “คูฮารา” ได้ยื่นคำร้องต่อศาล เรียกร้องมรดกและทรัพย์สินกว่าครึ่งหนึ่งของคูฮาราให้เป็นทรัพย์สินของตนเอง โดยอ้างว่า คูฮารา เป็นบุตรสืบทอดทางสายเลือดโดยตรง แต่เป็นที่ทราบกันว่า คูฮาราและพี่ชาย เติบโตมาจากการเลี้ยงดูของยายและน้า โดยแม่แท้ๆ ได้ทอดทิ้งไปนานนับสิบปี หลังจากหย่าร้างกับพ่อ และไม่เคยมาดูแล หรือจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเลยแม้แต่น้อย
กระทั่งเมื่อกลางปี 2564 รัฐสภาเกาหลีใต้ได้ผ่านมติร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่ว่าด้วยครอบครัว การเลี้ยงดูบุตร 1ในนั้น คือ กฎหมายการจัดการมรดกอย่างเป็นธรรม หรือที่เรียกว่า “กฎหมายคูฮารา” (Goo Hara act) ซึ่งว่าด้วยการจัดการมรดกของบุตร หากเสียชีวิตก่อนบิดา หรือมารดา
กฎหมายคูฮารา (Goo Hara Act) มีสาระสำคัญระบุว่า บิดาหรือมารดาที่ละเลยในการทำหน้าที่พ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตร หรือละเมิดต่อบุตร ไม่ว่าบุตรของตนเองหรือบุตรบุญธรรมก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นการละเมิดในทางใดทางหนึ่ง หรือกระทำความผิดอาชญากรรมร้ายแรงต่อบุตรของตน บิดามารดาจะไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรที่เสียชีวิต
ในมุมมองของนักกฎหมายไทย รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า กฎหมายมรดก ที่มีลักษณะคล้ายกับ “กฎหมายคูฮารา” ในระดับสากล ยังแทบไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไหน โดยส่วนใหญ่ยังคงใช้หลักผู้มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต มีสิทธิ์ได้รับมรดก ส่วนการจะเชื่อมโยงไปเทียบเคียงกับกรณีของนักแสดงสาว “แตงโม ภัทรธิดา” ก็ไม่สามารถทำได้ แม้จะเป็นนักแสดงชื่อดังเหมือนกันก็ตามเนื่องจากเป็นคนละประเด็น
โดยกฎหมายคูฮารา ระบุว่า บิดาหรือมารดาที่ละเลยในการทำหน้าที่พ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตร จะไม่มีสิทธิ์รับมรดกของบุตรที่เสียชีวิต ซึ่งมรดกนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่บุตรมีอยู่ก่อนเสียชีวิต แต่สำหรับกรณีแตงโม ขณะนี้ยังไม่มีใครออกมาเปิดเผยว่าเธอมีทรัพย์มรดกอยู่เท่าไหร่ แต่ประเด็นส่วนใหญ่จะถกเถียงกันเรื่อง เรื่องประกัน1 ล้านบาท และเงินเยียวยา 30 ล้านบาท ว่าแม่ควรจะได้รับหรือไม่ ซึ่งเงินทั้ง 2 ก้อนนี้ ล้วนแต่เป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการตาย ไม่ใช่ทรัพย์มรดก จึงไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้
และเมื่อถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องผลักดันกฎหมายแบบกฎหมายคูฮาราให้เกิดขึ้นในเมืองไทย เพื่อใช้กับกรณีของพ่อหรือแม่ที่ละเลยไม่เลี้ยงดูบุตร แล้วจะมาใช้สิทธิ์เรียกร้องเอามรดกเมื่อลูกเสียชีวิต อ.มานิตย์ บอกว่าไม่จำเป็น เพราะกฎหมายไทย สามารถทำพินัยกรรม ระบุยกให้ใครก็ได้ตามที่เจ้าตัวต้องการ และหากผู้รับมรดกที่ระบุไว้ เกิดเสียชีวิตไปก่อน ก็สามารถเปลี่ยนพินัยกรรมใหม่ได้เช่นกัน สำหรับสิทธิ์ในการรับเงินเยียวยาค่าสินไหมทดแทน ที่เกิดขึ้นการเสียชีวิตของแตงโมนั้นก็เป็นสิทธิ์ของแม่ ซึ่งถือว่าเป็นทายาทตามหลักกฎหมายไทย.-สำนักข่าวไทย