กระทรวงสาธารณสุข 2 มี.ค.-“สาธิต” เผยตั้งใจทำกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.-พรรคการเมือง ให้เสร็จช่วงปิดสมัยประชุม ให้พร้อมลงมติในสมัยประชุมหน้า ป้องกันข้อครหาเตะถ่วง ชี้ตำแหน่งประธานเป็นเผือกร้อน ได้มาโดยบังเอิญ เชื่อไม่สร้างรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวไทย” ยืนยันจะเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ให้เสร็จภายในช่วงปิดสมัยประชุม โดยมีเวลาประมาณ 2 เดือน จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันพุธ และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันพฤหัสบดี ซึ่งจะเริ่มในสัปดาห์หน้า
นายสาธิต กล่าวว่า จะนำร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยประชุมหน้าทันที หลังวันที่ 22 พฤษภาคม หรือหากเสร็จเร็วจะประสานประธานรัฐสภา เพื่อขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อป้องกันข้อครหาว่ารัฐบาลเตะถ่วง เพราะต้องการอยู่ในตำแหน่งนาน ๆ ทั้งนี้ ยังไม่มีนโยบายอะไรมาจากรัฐบาล และยืนยันว่ารัฐบาลสั่งไม่ได้ เพราะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ตั้งโดยรัฐสภา กลไกในกรรมาธิการจะถูกคัดท้ายด้วยประธาน แต่ถูกเดินด้วยความเห็นของกรรมาธิการที่มาจากทุกพรรคการเมืองและวุฒิสมาชิก
“รัฐบาลต้องแสดงออกให้เห็นว่าไม่ได้ถ่วงเวลาที่จะใช้กฎหมายเพื่อให้อยู่ได้นาน ทุกอย่างต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ในบ้านเมืองมีความเห็น ความเชื่อแตกต่างกัน รัฐบาลจึงต้องแสดงออก ให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าไม่ได้ยื้อเวลา และกฎหมายลูกเป็นกลไกหนึ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีสิทธิอยู่แล้วว่าจะอยู่ต่อหรือยุบสภา เป็นทางเลือกที่เปิดเอาไว้ แต่ถ้าจะเลือกทำอย่างอื่นแล้วกฎหมายลูกยังไม่เสร็จ ยิ่งตอบคำถามไม่ได้ว่ารัฐบาลจะยื้อหรือจะดึงให้อยู่ต่อ ผมคิดว่าต้องทำตรงนี้ให้พร้อม เพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาจากประชาชนที่มีมาถึงท่านนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีสัญญาณว่าจะมีเลือกตั้งเร็ว ๆ นี้ ผมไม่ทราบ ผมไม่เกี่ยว” นายสาธิต กล่าว
ส่วนจำเป็นต้องทำความเข้าใจหรือเคลียร์กับนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่มีชื่อเป็นประธานก่อนหน้านี้หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปเคลียร์ เพราะตนไม่ได้เข้าร่วมประชุมกรรมาธิการฯ และไม่ได้มีส่วนเสนอตัวเอง แต่กรรมาธิการเลือกตน ซึ่งเมื่อตกลงเลือก ตนก็ต้องยอมรับและขอบคุณกรรมาธิการฯ ที่ให้ความเชื่อมั่นว่าตนจะมีความเป็นกลาง
“มั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาการทำงานร่วมกันในคณะกรรมาธิการ โดยเฉพาะกับ ส.ส.รัฐบาล ผมมองในมุมกลับว่าจะเป็นการลดการปะทะกันด้วยซ้ำ เพราะผมเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และจะใช้เหตุผลในการทำงาน ควบคุมการประชุม เพื่อนำไปสู่กติกาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ด้วยเหตุด้วยผล ต้องยอมรับว่ามีแรงกดดัน เพราะมองกันว่ากรรมาธิการชุดนี้มีความสำคัญ มีคนมาแสดงความยินดีกับผม แต่ผมบอกว่ามันเป็นเผือกร้อน เพราะการจะสร้างกติกาให้แต่ละฝ่ายยอมรับเป็นแรงกดดันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคการเมืองหรือประชาชนฝั่งไหน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมจะทำหน้าที่ให้เห็นว่า กลไกของกรรมาธิการฯ จะนำความเห็นของฝ่ายต่าง ๆ นำไปสู่กติกาที่ตอบคำถามได้ว่า กติกาที่ถูกกำหนดขึ้นมาจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่เพิ่มความขัดแย้งในอนาคตได้อย่างไร แม้จะมีความกดดัน แต่ผมตั้งใจทำอย่างเต็มที่” นายสาธิต กล่าว
นายสาธิต กล่าวว่า การพิจารณาไม่มีธงว่าหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นเบอร์เดียวกันหรือไม่ จะขอฟังความเห็นจากทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชน และข้อมูลหลักฐานบัตรดีบัตรเสีย เพื่อประกอบการพิจารณา แต่คงไม่ถึงขั้นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเกรงว่าจะถูกมองว่าเป็นการยื้อเวลา แต่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า พร้อมที่จะสร้างกติกาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้
นายสาธิต กล่าวว่า หลังจากที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทราบว่าตนรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้สอบถามเรื่องนี้กับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ชี้แจงให้ทราบว่า เป็นเรื่องของที่ประชุมกรรมาธิการฯ ซึ่งตนได้แสดงเจตจำนงชัดเจน โดยไม่ได้เข้าร่วมประชุม และทราบตอนที่มีมติเลือกตนแล้ว ก็ต้องยืนยันและยอมรับ และขอบคุณที่กรรมาธิการฯ ไว้ใจ ซึ่งจะใช้ความเป็นกลางและความตรงไปตรงมา ร่างกฎหมายเพื่อมากำหนดกติกาที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต และมั่นใจว่าเมื่ออธิบายทั้งหมดได้ จะไม่ทำให้เกิดปัญหารอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล
“ทุกฝ่ายกดดันมา แต่ผมเป็นคนทำงาน ตอบคำถามได้ ตั้งใจทำตรงนี้และไม่มีผลประโยชน์อื่น ไม่รับคำสั่งใคร ผมตอบได้ผมสบายใจ และเชื่อว่าไม่สร้างรอยร้าวอะไรในพรรคร่วมฯ ผมอธิบายได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ผมอธิบายมันตรงกัน แต่ผมมาจากสัดส่วน ครม. ถ้าผมไปที่ประชุมปั๊บ ผมก็ต้องเป็นประธานอยู่ดี เราเป็นตัวแทนจากฝั่ง ครม. แต่ผมเลือกไม่ไป เพราะรักษามารยาท แต่ในที่ประชุมเลือกผมขึ้นมา ก็ต้องเคารพเวทีกรรมาธิการฯ” นายสาธิต กล่าว.-สำนักข่าวไทย