สธ. 28 ก.พ.- สธ.คาดติดเชื้อโอไมครอนจะยังคงสูงไปอีก 2-6 สัปดาห์ จะค่อยลดลง ราวกลาง มี.ค. พร้อมแจงปรับเกณฑ์ใช้ OPD เริ่มใช้ 1 มี.ค. ให้เหมาะกับสถานการณ์ ไม่ใช่เงินหมด แจงยาฟาวิพิราเวียร์มีเหลือ สั่งวัตถุดิบพร้อมตอกเม็ด แม้มีสงครามก็ไม่กระทบ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โอไมครอนของไทย ขณะนี้อยู่ในภาวะขาขึ้น โดยในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบอัตราการติดเชื้อ 4 คน ต่อ 1 ล้านประชากร และสถานการณ์การติดเชื้อจะค่อย ๆ ทรงตัว และลดลงราวกลางเดือน มี.ค. ทั้งนี้หากวิเคราะห์ในส่วนของผู้เสียชีวิตวันนี้ (28 ก.พ.) 42 คน พบว่า 95% เป็นกลุ่มอายุ 608 ทั้งเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน มะเร็ง และป่วยไต และหากเปรียบเทียบกับการติดเชื้อโอไมครอนกับเดลตา จะพบว่าเดลตายังพบคนที่ติดเชื้อและเสียชีวิตไม่ใช่กลุ่ม 608 ถึง 30% อย่างไรก็ตาม การควบคุมโรค ต้องเน้นในกลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ ที่มีการรวมตัวกัน และฉากทัศน์ โอไมครอนในกรณีที่พบผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น แน่นอนว่าแนวโน้มผู้ป่วยปอดอักเสบอาจสะสมสูงถึง 1,000 คน แต่น้อยกว่าเดลตาที่สะสมถึง 6,000-7,000 คน ส่วนการใส่ท่อช่วยหายใจ โอไมครอนอาจสะสมถึง 500 คน แต่ในเดลตา สะสม 1,300 คน และอัตราการเสียชีวิตต่อวัน 50 คน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ ยืนยันว่ามีเพียงพอ ได้มีการสำรองวัตถุดิบแบบผงมาไว้แล้ว แม้สถานการณ์โลกอาจเกิดปัญหาการสู้รบก็จะไม่กระทบต่อขาดแคลนยา โดยขณะนี้มียาสำรวจไว้ รวม 16,904,718 เม็ด แบ่งเป็นที่ อภ. 65,200 เม็ด, เขตสุขภาพที่ 1-12 รวม 13,343,882 เม็ด และเขตที่ 13 จำนวน 3,495,636 เม็ด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การระบาดโอไมครอน ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีการติดเชื้อประมาณ 1-2 เดือน ส่วนไทยก็คาดว่าจะมีการติดเชื้อไปอีก 1-2 เดือน หรือประมาณ 4-8 สัปดาห์ โดยคาดว่าอีกประมาณ 2-6 สัปดาห์ สถานการณ์การติดเชื้อจะค่อย ๆ เริ่มทรงตัวและลดลงได้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มาตรการยังเข้มและฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนเรื่องสายพันธุ์โอไมครอน BA.2 นั้น ข้อมูลที่ผ่านมาไม่รุนแรงเท่าเดลตา
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 1 มี.ค.ได้เพิ่มการรักษาผู้ป่วยโควิดเป็นผู้ป่วยนอก หรือ OPD ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจ รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการ อาการน้อย ไม่มีความเสี่ยง เป็นมาตรการเสริมจาก HI/CI ลดภาะ รพ.ความแตกต่างผู้ป่วยนอกกับ HI คือ ผู้ป่วยนอกจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชม. แต่หากมีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถติดต่อกลับได้ทุกเวลา ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วและไม่มีอาหารให้ หลังดำเนินการจะมีการประเมินระบบเป็นระยะ ส่วนจำนวนเตียง รพ.ขณะนี้ยังเพียงพอ แต่หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง รพ.เครือข่ายให้เตรียมพร้อมลดเตียงผู้ป่วย Non-Covid มารองรับผู้ป่วยโควิด 15-20% กรณีข้อกังวลว่าการรักษาในระบบผู้ป่วยนอก จะสามารถเคลมประกันได้หรือไม่ ได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง คปภ.ต้องไปดำเนินการต่อ แต่หลัก ๆ ต้องดูว่าประกันของผู้ป่วยครอบคลุมกรณีเป็นผู้ป่วยนอกหรือไม่ หากไม่ครอบคลุมก็ให้เข้าสู่ระบบ HI เพราะ HI มีการประกาศเป็นทางการว่าเป็นผู้ป่วยใน สามารถประเมินเป็นราย ๆ ได้
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่าจากการพิจารณาจัดทำแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ฉบับล่าสุด คือฉบับที่ 20 เปลี่ยนตามสถานการณ์โรค ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และเป็นเหมือนกันทั่วโลก และไม่ใช่เพราะกินหมด ซึ่งจะมีแนวทางสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD ทั้งนี้รายละเอียดการให้ยา ดังนี้ 1.ผู้ป่วยไม่มีอาการพบกว่า 90% อยากให้มีการรักษาที่บ้าน หรือแบบผู้ป่วยนอก อาจจะมีอาการคันคอ จะไม่มีการให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายเองได้ และไม่ต้องเสี่ยงจากผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาสีฟ้า เสี่ยงดื้อยา และ ไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อนๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้อาจจะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรให้ตามดุลพินิจแพทย์ แต่ไม่ให้ในเด็ก คนท้อง คนป่วยโรคตับ
2.กรณีมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์เป็นคนพิจารณาว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากให้ต้องหยุดกินฟ้าทะลายโจร อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบเชื้อมีอาการเกิน 5 วันแล้วการให้ยาต้านอาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว 3.กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ 65 ปีขึ้น มีโรคร่วม แพทย์พิจารณาแอดมิทใน รพ. เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว ส่วนกลุ่มที่ 4 ซึ่งอาการรุนแรงนั้นอยู่ใน รพ.อยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม โดยตลอดการรักษาแบบ OPD ยังคงอยู่ที่บ้านกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย และมีการตรวจ ATK ในวันที่ 5-6 หากไม่เจอก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็งดการรวมตัวกันจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย