ในยุคที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นทุกวัน การ Swab ตรวจหาเชื้อเมื่อมีความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่คนที่เสี่ยงบ่อยก็ต้อง swab บ่อย จนกระทั่งมีการระบาดของข้อมูลเท็จเกิดขึ้น และสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะคำกล่าวอ้างที่ระบุว่า การ Swab เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
คำกล่าวอ้าง
มีคลิป / ข้อความ ที่ระบุว่าการ swab จมูกบ่อย ๆ จะทำให้เนื้อเยื่อเพดานจมูกพัง เชื้อโรคเข้าสู่สมอง และระบบประสาทเสียหาย โดยมีใจความหลักดังนี้
- การ Swab จมูกทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่สมอง
- สารเคมีที่นำมาฆ่าเชื้อไม้ Swab เป็นสารก่อมะเร็ง
- การ swab ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในผู้ใหญ่
- การ Swab ทำลายระบบประสาทต่าง ๆ เช่น ระบบประสาทรับกลิ่น
- การตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR เชื่อถือไม่ได้
บทสรุปหลังตรวจสอบ
❌ ข้อมูลไม่เป็นความจริง อย่าแชร์ ❌
- วันที่ตรวจสอบ: 17 มกราคม 2565
- ตรวจสอบโดย: ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท
- คลิปอ้างอิง: https://youtu.be/iX96_Et1RBg
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างข้างต้น และพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยมีคำอธิบายเพื่อหักล้างคำกล่าวอ้างดังนี้
คำอธิบายข้อเท็จจริง
การ Swab จมูกบ่อย ๆ ไม่อาจทำให้ไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่สมองได้
- โดยหลักแล้ว สมองมีกลไกที่สามารถป้องกันไม่ให้สาร หรือเชื้อโรคที่มากับระบบไหลเวียนเลือดทะลุเข้ามาได้ ซึ่งเราเรียกมันว่า Blood-brain barrier เพราะฉะนั้นการแหย่จมูกจะไม่มีผลกระทบอะไรกับสมองหรือระบบไหลเวียนเลือดใด ๆ เลย และระบบ Blood-brain barrier จะยังทำงานได้อย่างปกติดี
สารเคมีที่นำมาฆ่าเชื้อไม้ Swab ไม่ได้ก่อมะเร็ง และไม่ได้ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
- อุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนใหญ่ รวมถึงไม้ Swab จะได้รับการฆ่าเชื้อด้วยแก๊ส ethylene oxide ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันมายาวนาน และจะไม่ตกค้างอยู่บนอุปกรณ์หลังจากฆ่าเชื้อ ซึ่งการจะก่อมะเร็งได้นั้น ผู้ป่วยจะต้องสูดดมแก๊สเข้าไปโดยตรง ไม่ใช่ผ่านการสัมผัสหรือใช้อุปกรณ์นั้น ๆ แต่อย่างใด นอกจากนี้ ปริมาณในการใช้สาร ethylene oxide ยังถูกควบคุมให้อยู่ในปริมานที่ไม่สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ได้ มิฉะนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำออกมาใช้
การ Swab ไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ กับระบบประสาท
มีการเตือนอย่างแพร่หลาย ว่าให้ระวังการ Swab จมูกบ่อย ๆ เพราะจะไปทำลายระบบประสาทรับกลิ่น เส้นประสาท Trigeminal และยังส่งผลกระทบกับระบบ Limbic อีกด้วย ทั้งนี้ นายแพทย์ศุภกิจยืนยันว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่เป็นความจริง
- ประสาทรับกลิ่น: เป็นเพียงบริเวณเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่ประมาณ 2-5 ตารางเซนติเมตร ซึ่งอยู่บริเวณด้านบนของโพรงจมูก แต่ตามหลักการแล้ว ตำแหน่งในการ Swab คือโพรงหลังจมูก (Nasopharyngeal) ซึ่งจะอยู่ด้านใน และถึงแม้จะมีโอกาสที่จะแยงไปโดนบ้าง ก็ยังคงไม่เป็นอะไร เพราะตัวประสาทรับกลิ่นเอง มีเซลล์ที่คอยปกป้องตัวมันไว้โดยธรรมชาติเพื่อไม่ให้ไม้แยงจมูกไปสัมผัสโดยตรง เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ไม่ได้ Swab ผิดวิธีจนทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงจนกระทั่งเลือดออก โอกาสที่ประสาทรับกลิ่นจะได้รับผลกระทบจะแทบไม่มีเลย
- เส้นประสาท Trigeminal: ถือเป็นคู่ที่ 5 จากเส้นประสาทในสมองของคนเรา ที่มีทั้งหมด 12 คู่ ซึ่งเส้นนี้จะสัมพันธ์กับการรับความรู้สึกจากบริเวณใบหน้า และจะไม่สามารถเปิดออกมาตรงบริเวณโพรงจมูกให้ไม้ swab แยงเข้าไปโดนได้แต่อย่างใด
- ระบบ Limbic: ข้อมูลที่อ้างว่าการ Swab บ่อย ๆ จนทำให้จมูกระคายเคืองจะส่งผลกระทบไปทั้งระบบ Limbic นั้น เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากระบบ Limbic เป็นระบบที่อยู่ในสมองด้านล่างร่วมกับทาลามัส ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพฤติกรรม ความทรงจำ และการเรียนรู้ การแยงจมูกจึงไม่มีทางกระทบกับระบบในส่วนนี้เลย
การแยงจมูกด้วยวิธี RT-PCR ถือเป็นวิธีมาตรฐานสากลในปัจจุบัน
- การตรวจแบบแยงจมูก (Nasopharyngeal) คือการตรวจเก็บสิ่งส่งตรวจที่อยู่หลังโพรงจมูก โดยการแหย่เข้าไปให้ลึกจนชนผนังด้านหลัง ซึ่งถือเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายตามสถาบันต่าง ๆ รวมถึงองค์การอนามัยโลก และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการพัฒนาให้ตรวจหาเชื้อแบบใช้น้ำลาย (Deep Throat Saliva) ได้ก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังคงยืนยันว่า ควรใช้แค่เป็นทางเลือกไว้สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเก็บสิ่งส่งตรวจจากหลังโพรงจมูกได้ เช่น เด็กเล็ก ๆ คนที่มีปัญหาความผิดปกติของโพรงจมูก หรือคนที่ต้องตรวจบ่อยมากจนเกินไป เนื่องจากมีผลการทดลองขอกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ชี้ว่า การตรวจหาเชื้อแบบแยงจมูกด้วยวิธี RT-PCR สามารถพบเชื้อได้มากกว่าการตรวจแบบน้ำลายนั่นเอง
ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท
ให้ความรู้โดย: นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
เรียบเรียงบทความโดย: ชณิดา ภิรมณ์ยินดี
- 🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” 🎯
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter