ตรัง 4 ก.พ. – ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.ตรัง เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน หรือปลานีโม่ จำหน่ายให้กับเกษตรกรสนใจซื้อลูกปลาการ์ตูนไปเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ขนาด ก่อนจะส่งขายให้พ่อค้าที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้เสริม
ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.ตรัง น.ส.พัชรี ซุ่นสั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.ตรัง พาผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยไปดูการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน หรือปลานีโม่ โดยมีสายพันธุ์พื้นเมืองฝั่งอันดามัน 5 ชนิด ฝั่งอ่าวไทย 2 ชนิด สายพันธุ์ต่างประเทศ 5 ชนิด และไฮบริด หรือลูกผสม อีก 10 ชนิด รวมทั้งหมด 22 ชนิด ซึ่งแต่ละปีศูนย์วิจัยฯ สามารถผลิตลูกปลาการ์ตูนได้ไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ตัว โดยส่วนหนึ่งได้นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และส่วนหนึ่งนำออกจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจซื้อลูกปลาการ์ตูนไปเพาะเลี้ยงต่อเพื่อให้ได้ขนาด ก่อนจะส่งขายให้พ่อค้าที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้เสริม อีกทั้งเป็นการลดการลักลอบจับปลาการ์ตูนในทะเลมาขายอย่างผิดกฎหมายได้อีกทางหนึ่งด้วย
แต่ละปีสร้างรายได้ให้กับกรมประมงไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ส่วนลูกค้ามีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ราคาขายมีตั้งแต่ตัวละ 10-1,500 บาท แล้วแต่ชนิดและขนาดของปลาการ์ตูน แต่ที่ลูกค้านิยมมากที่สุดคือ ไฮบริค หรือลูกผสม ที่มักจะมีถึง 3 สีในตัวเดียวกัน ทำให้มีสีสันที่โดดเด่น สวยงาม แปลกตา ตัวใหญ่ ขนาดลำตัวยาว 3-4 เซนติเมตร ราคาตัวละ 350 บาท หากตัวใหญ่ขึ้นราคาจะสูงขึ้นอีก ส่วนปลาการ์ตูนพันธุ์พื้นเมือง จะมีเพียง 1-2 สี สีไม่ฉูดฉาด ราคาตัวละ 10-20 บาทเท่านั้น
หากเกษตรกรรายใดสนใจจะรับซื้อไปเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อเป็นรายได้เสริม ทางศูนย์วิจัยฯ มีขายทางออนไลน์ พร้อมภาพปลาการ์ตูนที่สามารถเลือกชนิด ขนาดและราคาได้ พร้อมบริการจัดส่ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าไปเลือกซื้อหรือขอคำแนะนำต่างๆ ได้ในเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.ตรัง หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 7527 4077-78 ในวันและเวลาราชการ .-สำนักข่าวไทย