กรุงเทพฯ 9 ม.ค. – ปั๊มพีทีขยายลงทุนทุ่ม 4,500 ล้านบาทในปีนี้ ตั้งเป้าขึ้นแท่นมีปั๊มมากที่สุดในประเทศ พร้อมเล็งลงทุนเพิ่มอีก 3 พันล้านบาท ผลิตเอทานอลทั้งร่วมทุนผลิตโรงงานเอทานอลจากกากมันฯ แห่งแรกของโลก และซื้อกิจการในโรงงานที่ผลิตจากโมลาส ย้ำปีนี้รายได้แตะแสนล้านบาท
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจีเอนเนอยี่ จำกัด ผู้ให้บริการปั๊มน้ำมันพีที เปิดเผยว่า รายได้ของบริษัทปีนี้จะแตะแสนล้านบาท หลังจากปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 64,000 ล้านบาท ปัจจัยหลักที่ส่งผลรายได้เพิ่มมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นหลังกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกร่วมลดกำลังผลิต คาดว่าปีนี้ราคาจะอยู่ที่ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อรวมกับเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยเพิ่มขึ้นอีก 2-3 บาท/ลิตร
ขณะเดียวกันยังมาจากยอดขายน้ำมันคาดจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เป็น 3,900-4,000 ล้านลิตร/ปี จากปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 2,900 ล้านลิตร/ปี ยอดขายที่เพิ่มส่วนสำคัญมาจากการขยายจำนวนปั๊ม โดยสิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายขยายปั๊มน้ำมันให้มีจำนวนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ หรืออยู่ที่ 1,800 แห่ง จากที่ขณะนี้มี 1,407 แห่ง และตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 3,200 แห่งในปี 2563 ตั้งเป้าลงทุนทั้งในส่วนของปั๊มและธุรกิจเสริม 4,500 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งในส่วนของปริมาณการขายน้ำมันหน้าปั๊มในปีนี้คาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 2 จากที่ปีที่แล้วอยู่อันที่ 5
ล่าสุดพีทีลงนามร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง 1,500 ล้านบาท กำลังผลิต 200,000 ลิตร/วัน คาดจะเริ่มผลิตได้ในปี 2563 และจะมีกำไรประมาณ 300 ล้านบาท/ปี บริษัทถือหุ้นร้อยละ 60 และบริษัทเอี่ยมบูรพา ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังร้อยละ 40 ใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น บริษัทซับโปโรโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งปัจจุบันบริษัทพีทีมียอดใช้เอทานอล 470,000 ลิตร/วัน จากยอดขายกลุ่มเบนซิน 747 ล้านลิตร/ปี คาดจะเพิ่มเป็น 419 ล้านลิตรในปี 2563 และมียอดใช้เอทานอล 1.15 ล้านลิตร/วัน
“การผลิตเอทานอลจากกากมันฯ บริษัทผลิตเป็นรายแรกของโลก ต้นทุนต่ำ เพราะกากมันฯ เป็นของเหลือใช้ ช่วยลดโลกร้อน เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าต้นทุนต่ำกว่าการผลิตจากมันฯ และโมลาส 3 บาท/ลิตร โรงงานแรก 200,000 ลิตร/วัน จะอยู่ที่จังหวัดสระแก้วและวางแผนสร้างโรงที่ 2 ต่อเนื่องอีก 200,000 ลิตร/วัน และปีนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนในโรงงานที่ผลิตจากโมลาส โดยตั้งเป้าหมายในอนาคตบริษัทจะใช้เอทานอลจากการร่วมทุนทั้งหมด” นายพิทักษ์ กล่าว
สำหรับไตรมาส 3 /2560 บริษัทยังจะมีรายได้เพิ่มจากโรงงานไบโอดีเซลกำลังผลิต 450,000 ลิตร/วัน ตั้งอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริษัทถือหุ้นร้อยละ 40 ที่เหลือร้อยละ 60 ถือหุ้นโดยบริษัทท่าฉางและพันธมิตร ซึ่งโรงงานนี้ยังจะได้โอเลอีน อีก 200,000 ลิตร/วัน คาดสร้างรายได้รวม 4,500 ล้านบาท/ปี โดยในส่วนน้ำมันโอเลอีนมีแผนจำหน่ายในเมียนมาร์และค้าปลีกผ่านหน้าปั๊มพีที
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดและจำนวนปั๊มสูงที่สุดในประเทศรวม 1,531 แห่งแบ่งเป็นในส่วนของ ปตท. 1,382 แห่ง และของ pttrm 149 แห่ง โดยกลยุทธ์การขยายจำนวนปั๊มของ พีที คือ การเช่าสถานที่จากปั๊มที่หมดอายุสัญญาเช่ากับรายเดิม รวมทั้งปั๊มขนาดเล็กในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นหลัก. -สำนักข่าวไทย