กรุงเทพฯ 27 ม.ค.-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยช่วงตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคักของแพงเศรษฐกิจไม่ดีรายได้ลด ฉุดเงินสะพัดติดลบ 11.82% ต่อเนื่อง 3 ปี มูลค่าเหลือ 3.9 หมื่นล้านบาท ชี้รัฐบาลจะต้องเติมเงินคุมโควิดให้ได้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2565 พบว่า บรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก โดยมีมูลค่าเงินสะพัดที่ 39,627 ล้านบาท ขยายตัวติดลบจากตรุษจีนปีก่อนร้อยละ 11.82 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และเป็นมูลค่าเงินสะพัดที่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ทั้งนี้เป็นผลมาจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าราคาแพง รวมถึงรายได้ที่ลดลง ทำให้จำกัดในเรื่องของการซื้อสินค้าไหว้เจ้า การเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายอื่นๆลดลง
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนไม่มีผลกับการใช้จ่ายและการเดินทางของประชาชนมากนักเนื่องจากประชาชนมีการปรับตัว และรู้จักระมัดระวังในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้นแล้ว ไม่ได้ส่งผลกระทบกับพฤติกรรมของประชาชนมากเหมือนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มรู้จักโควิด-19
ทั้งนี้ จากรายได้ของประชาชนที่ลดลงส่งผลทำให้เป็นหนี้และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเติมเงินลงไปในกระเป๋าของประชาชน เพื่อช่วยพยุง เศรษฐกิจในช่วงที่สถานการณ์ราคาสินค้าราคาแพง และรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องดูแล ควบคุมโควิด-19 ให้ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี เพื่อที่จะเดินหน้าเศรษฐกิจ ให้ฟื้นตัวเต็มที่ได้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ร่วมกับการใช้มาตรการที่มีการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งทางศูนย์พยากรณ์มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเป็นห่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าขนส่ง ที่ยังคงมีราคาสูงและมีผลกับการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก และจากการที่ IMF ได้มีการประเมินเศรษฐกิจของโลกปีนี้ขยายตัวลดลง จากประมาณการเดิมร้อยละ 4.9 เหลือร้อยละ 4.4 เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 4 เศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 5 และราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจขยับตัวอยู่ที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นปัจจัยที่น่าจะมีความกังวลเพราะจะส่งผลกระทบกับการค้าโลกในภาพรวมรวมถึงการค้าของประเทศไทยด้วยจึงต้องมีการจับตาเป็นพิเศษอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย