ทำเนียบรัฐบาล 12 ม.ค.-ศบค.แถลงยอดติดเชื้อรายใหม่ 7,681 ราย พบกรุงเทพฯ ยอดสูงสุด หลังกลับมาจากต่างจังหวัด ห่วงคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับ-สถานบันเทิง
พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 7,681 ราย ติดเชื้อในประเทศ 7,392 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 227 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 12 ราย ผู้ป่วยหายแล้ว 3,350 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 66,286 ราย โดยรักษาตัวในโรงพยาบาล 37,313 ราย รักษาในโรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 28,973 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 480 ราย ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ 108 ราย ผู้เสียชีวิต 19 ราย พบว่าเป็นชาย 10 ราย หญิง 9 ราย โดยเป็นผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ราย เป็นผู้อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 5 ราย ไม่มีโรคเรื้อรัง 2 ราย
พญ.สุมณี กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 อันดับ กรุงเทพมหานคร 892 ราย ชลบุรี 873 ราย สมุทรปราการ 523 ราย ภูเก็ต 488 ราย ขอนแก่น 277 ราย อุบลราชธานี 269 ราย นนทบุรี 251 ราย เชียงใหม่ 194 ราย ศรีสะเกษ 167 ราย และบุรีรัมย์ 166 ราย ทั้งนี้ จะพบว่า กรุงเทพมหานครเริ่มกลับมามีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุด เนื่องจากคนกลับมาจากต่างจังหวัด เพื่อมาทำงานในกรุงเทพฯ ปัจจัยเสี่ยงยังพบการกิน ดื่ม ในช่วงพักเที่ยงและหลังเลิกงาน ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เพราะต้องถอดหน้ากาก
“จาก 10 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ศบค.ยังแสดงความเป็นห่วงการติดเชื้อในพื้นที่ จ.นนทบุรี และปทุมธานี ที่พบว่าก่อนหน้านี้มีผู้ติดเชื้อเพียงหลักสิบ และเพิ่มขึ้นมาเป็น 3 หลัก ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งจังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยวสีฟ้า 8 จังหวัด เพิ่มความเข้มมาตรการ คลัสเตอร์ที่พบยังคงเป็นร้านอาหารกึ่งผับ กึ่งสถานบันเทิง ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี 26 ราย น่าน 22 ราย อุดรธานี 6 ราย พะเยา 3 ราย ขอนแก่น 6 ราย เชียงใหม่ 26 ราย ศรีสะเกษ 3 ราย คลัสเตอร์งานสังสรรค์อีก 2 จังหวัด คือ อุดรธานี 9 ราย หนองบัวลำภู 6 ราย คลัสเตอร์โรงงาน พบที่ จ.นครพนม 18 ราย คลัสเตอร์งานบุญ พบที่ จ.อุบลราชธานี 3 ราย คลัสเตอร์สถานศึกษา พบใน 3 จังหวัด ที่ จ.จันทบุรี 6 ราย กรุงเทพฯ 5 ราย นนทบุรี 2 ราย” พญ.สุมณี กล่าว
พญ.สุมณี กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อทั่วโลก 2,772,068 ราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก
พญ.สุมณี กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทย หลังจากวันจันทร์ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (12 ม.ค.65) จำนวนผู้ติดเชื้อยังทรงตัวและลดลงอย่างช้าๆ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อชะลอและควบคุมการระบาด โดยอัตราการติดเชื้อ 100 ต่อแสนของจำนวนประชากร ส่วนการระบาดในช่วงเดือนมกราคม 2565 พบความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตน้อยกว่าในช่วงเดือนเมษายน 2564 อันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีน
“พบอัตราของผู้ป่วยจากปอดอักเสบมีจำนวนลดลงเช่นกัน ทำให้เห็นว่าเชื้อโควิดเข้าข่ายลักษณะการแพร่ระบาดแบบเชื้อประจำถิ่น ซึ่งเราสามารถอยู่และใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ต้องระวังและคงมาตรการแบบนิวนอร์มอล ทั้งนี้ ยังไม่พบการเสียชีวิตจากเชื้อโอไมครอน จึงถือว่าความรุนแรงของเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยยังน้อยกว่าเดลตา โดยจะยังคงยึดมาตรการการตรวจ ATK ทุกครั้งที่ร่วมกิจกรรมต่างๆ” พญ.สุมณี กล่าว
พญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับรายงานการฉีดวัคซีนวันนี้ เพิ่มขึ้น 513,208 โดส โดยยอดสะสม 107,271,904 โดส แบ่งเป็นยอดรวมเข็มที่ 1 จำนวน 51,592,872 โดส คิดเป็นร้อยละ 71.6 เข็มที่ 2 จำนวน 47,056,159 โดส คิดเป็นร้อยละ 65.3 และเข็มที่ 3 จำนวน 8,622,873 โดส คิดเป็นร้อยละ 12.0 นอกจากเร่งรณรงค์ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว จะเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 ให้บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นผู้ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะได้มีภูมิคุ้มกันต่อสู้ขณะทำงาน ซึ่งวันนี้มีรายงานการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ในกรุงเทพมหานคร 5 โรงพยาบาล
พญ.สุมณี กล่าวถึงการติดเชื้อของเด็กนักเรียนและนักศึกษา อายุ 0-19 ปี ตั้งแต่ช่วงระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึง 7 มกราคม 2565 จากผู้ติดเชื้อ 7,526 ราย พบว่าเป็นนักเรียน นักศึกษา 1,048 ราย โดย 10 จังหวัดของการติดเชื้อของกลุ่มนี้ อายุ 6-18 ปี พบมากสุดที่กรุงเทพฯ ชลบุรี อุบลราชธานี สมุทรปราการ พังงา กาฬสินธุ์ ภูเก็ต ขอนแก่น พัทลุง และร้อยเอ็ด โดยมีสาเหตุมาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งเป็นคนในครอบครัว.-สำนักข่าวไทย