กรุงเทพฯ 6 ม.ค. – นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุ มาตรการห้ามส่งออกสุกร 3 เดือน สามารถตรึงราคาได้ระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีวัคซีนป้องกันโรคระบาดและลดต้นทุนอาหารสัตว์ ประเมินที่ผ่านมาผู้เลี้ยงรายย่อยหยุดเลี้ยงกว่า 100,000 ราย ทำสุกรหายจากระบบกว่า 50%
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวถึงมาตรการห้ามส่งออกสุกรเป็นเวลา 3 เดือนว่า สามารถตรึงราคาได้ระดับหนึ่ง ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงรายย่อยหยุดเลี้ยงกว่า 100,000 รายทำให้สุกรหายจากระบบกว่า 50% การแก้ปัญหาที่ได้ผลที่สุดคือ เร่งรัดพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาด โดยเฉพาะโรคโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงเพราะอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงสุกร ไม่เช่นนั้นผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กอยู่ไม่ได้ ในวันพรุ่งนี้ (7 ม.ค) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะร่วมประชุมกับกรมปศุสัตว์เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาราคาเนื้อสุกรที่ปรับสูงขึ้นร่วมกันซึ่งสมาคมจะยืนยันข้อเสนอดังกล่าว
ทางสมาคมยังเห็นว่า หากจะกำหนดมาตรการนำเข้าสุกรเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน รัฐอาจนำเข้าได้ชั่วคราว แต่สมาคมฯ ขอร่วมกำหนดจำนวนสุกรและระยะเวลา รวมทั้งให้สมาคมฯ เก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้เลี้ยงและป้องกันระบบการผลิต
นอกจากนี้ ขอเตือนผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กวาส ยังไม่ควรลงหมูใหม่เพราะเสี่ยงเสียหายจากโรคระบาดซ้ำอีก จนกว่าจะมีวัคซีนออกมา.-สำนักข่าวไทย