สธ. 4 ม.ค. – กรมควบคุมโรคแฉพฤติกรรมซ้ำรอยเดิม ดื่มกินเที่ยวร้านอาหารกึ่งผับบาร์ทำยอดติดโควิดพุ่ง สูงสุดชลบุรี รองลงมา กทม. และอุบลฯ จี้ผู้ว่าฯ-สสจ.คุมเข้มเอาผิดห้ามปล่อยปละไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชง ศบค.เลื่อนเปิดผับบาร์ออกไปอีก 1 เดือน จะนำยอดติดเชื้อและเสียชีวิต 2 สัปดาห์แรกมาประกอบการพิจารณา
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโอไมครอน หลังไทยมีการยกเลิกผู้เดินทางเข้าไทยด้วยระบบบ Test & Go เหลือแต่ระบบ Sandbox และการกักตัว ทำให้ยอดการติดเชื้อลดลง โดยสัดส่วนของจำนวนผู้ที่เดินทางเข้าไทย ตั้งแต่วันที่ 1-3 มกราคม 2565 มีผู้เดินทางเข้ามา 25,105 คน ติดเชื้อ 437 คน คิดเป็น 1.74 %
ส่วนภาพรวมการติดเชื้อในไทย เริ่มมีสัญญาณพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง โดยขณะนี้พบติดเชื้อมากจังหวัดชลบุรี จากการทำกิจกรรม การรวมตัวกัน จากร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ซึ่งซ้ำรอยกับคลัสเตอร์ขนาดใหญ่จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือคล้ายกับคลัสเตอร์ที่ทองหล่อในอดีต มาจากระบบอากาศถ่ายเทไม่สะดวก กิจกรรมที่ส่งเสียงดัง ดื่มเหล้า ถอดหน้ากาก โดย 5 จังหวัดพบการติดเชื้อสะสมมากสุดวันนี้ (4 ม.ค.) ได้แก่ ชลบุรี 499 คน รองลงมา กทม.376 คน, อุบลราชธานี 328 คน, ภูเก็ต 149 คน , สมุทรปราการ 120 คน และเชียงใหม่ 117 คน
นพ.โอภาส กล่าวว่า พฤติกรรมการติดเชื้อที่เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดช่วยตรวจตราเอาผิดกับร้านอาหารกึ่งผับบาร์ที่เกิดการแพร่เชื้อ เนื่องจากเดิมเป็นผับ บาร์ แต่เมื่อมีการมาขอนุญาตเปิดเป็นอาหาร ทาง ศบค.อนุโลมให้เปิด แต่กลับไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีความผิดร้ายแรง พร้อมยกตัวอย่างจากการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในช่วงเทศกาลปีใหม่ตรวจร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ที่พบการติดเชื้อเป็นอันดับ 3 นั้น พบว่านอกจากสถานที่มีความเสี่ยง คนมีพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว ยังพบการส่งเสริมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย จึงมอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งเตรียมเสนอ ศบค.ให้เลื่อนการเปิดออกไป และหากจะมีการเปิดได้ คาดว่าต้องใช้เวลาประเมิน 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน โดย 2 สัปดาห์แรก เป็นการประเมินว่ามีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้นหรือไม่ และ 2 สัปดาห์หลังเป็นการประเมินว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ ทั้งนี้ การลดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อหวังให้สถานการณ์การระบาดชะลอตัว
นพ.โอภาส กล่าวว่า แม้เชื้อโอไมครอนจะไม่รุนแรง แต่ต้องมีการควบคุมการระบาด เพื่อไม่ให้กระทบระบบสาธารณสุข หากมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นยังคงใช้ระบบเดิม ป่วยไม่รุนแรง ใช้ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) และป่วยหนักถึงรับการรักษาในโรงพยาบาล โดยการรักษาโอไมครอนและเดลตาไม่ต่างกัน ยาฟาวิพิราเวียร์ยังใช้ได้ดีอยู่ และเดลตาก็มีความรุนแรงมากกว่าโอไมครอนด้วยซ้ำ ส่วน Test & Go ยังชะลอการเปิดออกไปก่อน ไม่อนุญาตให้เปิดลงทะเบียนเข้ามาเพิ่มเติม ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนตกค้างและยังไม่ได้เข้ามานั้น ในส่วนความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขนั้นไม่อยากให้เข้ามา เพราะมีโอกาสนำเชื้อเข้ามาประเทศ หากจะเข้ามาให้เข้ามาแบบ Sandbox ซึ่งที่ภูเก็ตยังทำดี และมีหลายจังหวัดขอเปิดเพิ่มก็จะช่วยแบ่งเบาภาระให้คนเดินทางเข้าไทยได้มากกว่าเปิดที่เดียว.-สำนักข่าวไทย