กรุงเทพฯ 29 ธ.ค.-ศาลตัดสินให้ผู้บริหารสถาบันธรรมาภิบาลไทยแพ้คดีหมิ่นประมาทบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์กรณีกล่าวหาทำธุรกิจเกษตรพันธสัญญาจนกระทบเกษตรกรจำคุก 2 เดือนและปรับ 40,000 บาทแต่ให้รอการลงโทษ 2 ปีและลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับย่อหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ 3 วันติดต่อกัน
รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เปิดเผยว่า ตามบมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันธรรมาภิบาลไทย เป็นจำเลยในข้อหา “หมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 จากกรณีที่นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ กล่าวหาซีพีเกี่ยวกับการทำธุรกิจเกษตรพันธสัญญาของบมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) โดยอ้างว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไก่ ต.หนองงูเหลือม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ได้รับผลกระทบจากเกษตรพันธสัญญาจนต้องล้มเลิกโครงการและมีหนี้สิน
จากการสืบพยานของศาลอาญากรุงเทพใต้ พบว่า ซีพีไม่มีพฤติกรรมในการเอาเปรียบเกษตรกรจนมีภาระหนี้สินจากการทำเกษตรพันธสัญญาตามที่จำเลยกล่าวอ้างในพื้นที่ ต.หนองงูเหลือม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐมและตามที่จำเลยป่าวประกาศ ทั้งการอ่านข้อความแถลงการณ์ตามหนังสือร้องเรียน และถ่ายทอดสดการแถลงข่าวผ่านทางช่องทางแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กของจำเลย ในขั้นตอนการสืบพยาน ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้จำเลยนำสืบว่า จำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่พบว่าไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องเสียก่อน คำพยานของจำเลยไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือติชมด้วยความเป็นธรรมจึงมีความผิดตามฟ้อง
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิพากษาแล้วว่า นายอัครกฤษ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 จำคุก 2 เดือนและปรับ 40,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์จำนวน 5 ฉบับ จำนวน 3 วันติดต่อกัน
ทั้งนี้ บริษัทในเครือซีพีได้ฟ้องร้องตัวแทนสถาบันธรรมาภิบาลไทย เพิ่มเติมอีก 3 คดี ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง, เกษตรพันธสัญญาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือ และการรับซื้อวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล-สำนักข่าวไทย