กทม. 21 ธ.ค.-ผู้ว่าฯ รฟท. แถลงแนวทางการเดินรถไฟเข้าหัวลำโพง 23 ธ.ค.นี้ จะยังครบวันละ 80 ขบวน และหลังจากนี้ จะเร่งเช็กลิสต์ 4 ด้าน เพื่อให้ได้ข้อยุติการเดินรถในอนาคต ตานโยบายกระทรวงคมนาคม
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึง แนวทางการเดินรถ เข้าสู่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ หลังวานนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ให้หัวลำโพงยังมีขบวนรถเข้าสถานีเป็นปกติไปก่อน หลังก่อนหน้านี้มีแนวทางการลดขบวนรถเข้าหัวลำโพง เหลือ 22 ขบวน เพื่อทำการเช็กลิสต์ 4 ด้าน และทำแผน “แอคชั่นแพลน” ต่อไป
โดยนายนิรุฒ กล่าวว่า การเช็กลิสต์ นี้ รฟท. จะดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงคมนาคม, กรมการขนส่งทางราง, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง โดยจะเช็กลิสต์ ใน 4 ประเด็น คือ
1.ประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนรถไฟทางไกล ไปใช้สถานีกลางบางซื่อ มีผลกระทบ แก่ผู้ใช้บริการ และแก้ปัญหาอย่างไร
2.ประเด็นที่เกี่ยวกับรถเชิงพาณิชย์ ที่ควรมาใช้สถานีกลางบางซื่อ เพราะในอนาคต จะเป็นจุดเชื่อมต่อ ไป โครงการสำคัญอื่น เช่น โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ,ไฮสปีด ไทย-จีน รถไฟชานเมืองสายสีแดง
3.ประเด็นรถเชิงสังคม 40 ขบวน ควรเหลือ กี่ขบวน ปรับเวลาเดินรถ มีระบบอื่นมาแทนอย่างไร หากหยุดเดินรถเหล่านี้ไป
4.การเร่งประชาสัมพันธ์ ให้เกิดความเข้าใจ เพราะขณะนี้วิธีประชาสัมพันธุ์ มีประเด็นที่ความซับซ้อนมากขึ้น หลายมิติ จะต้องสร้างตวามรับรู้ให้ทั่วถึง
โดยเบื้องต้น จะทำเช็กลิสต์ให้เสร็จใน 30 วัน หรือในเดือนมกราคม 2565 ก่อนจัดทำ “แอคชั่น แพลน” ให้มีความชัดเจน คำนึงประโยชน์ และฟังเสียงประชาชน เปิดช่องทางรับฟังให้กว้างขึ้น
ส่วนการเดินรถไฟ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 จะยังเป็นไปตามปกติ คือ จะยังมีรถเชิงสังคม 40 ขบวน เชิงพาณิชย์ 40 ขบวน รวมวันละ 80 ขบวน และมีขบวนรถท่องเที่ยวเกินรถ เสาร์-อาทิตย์ อีก 6 ขบวน ซึ่งเป็นจำนวนขบวนรถ ที่เดินในช่วงสถานการณ์โควิด
ทั้งนี้ผู้ว่าฯ รฟท. ยืนยันอีกครั้งว่า แนวทางการปรับลดขบวนรถเข้าหัวลำโพง เมื่อมีการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีตั้งแต่โครงการสายสีแดง ผ่านการพิจารณา ครม. ในปี 2549 ซึ่งขณะนั้นต้องการให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบราง จึงจำเป็นต้องมีการปรับให้ขบวนรถทางไกลมาสิ้นสุดที่บางซื่อแทน
ผู้ว่าฯ รฟท. ยังกล่าวถึงประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเร่งรัดลดขบวนรถเข้าหัวลำโพง เป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือ “เจ้าสัว” ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันว่าไม่มีมูลความจริง
ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงในอนาคตนั้น ผู้ว่าฯ รฟท. ระบุว่าทิศทางจะเป็นอย่างไรนั้น ในอนาคต แน่นอนจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง รวมทั้งจะรอให้การศึกษาทำเช็กลิสต์ เกี่ยวกับการเดินรถเสร็จสิ้นก่อน เพื่อนำข้อมูลมาประมวลรวมกันอีกครั้ง
ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช