กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงปัญหาบริษัทหลายแห่งผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินหรือบี/อี ว่า เกิดขึ้นกับบริษัทเฉพาะแห่ง ไม่ใช่ปัญหาลุกลามทั้งระบบ โดย ตลท.ยืนยันว่าระบบของตลาดทุนมีความแข็งแกร่งและจะไม่เกิดปัญหาวิกฤติเหมือนปี 2540 อย่างแน่นอน โดย ตลท.ย้ำเตือนบริษัทจดทะเบียนที่ออกตั๋วบี/อี ให้มีความระมัดระวังและเตรียมสภาพคล่องและเงินทุนให้เพียงพอเพื่อรองรับการครบกำหนดไถ่ถอนในกรณีที่นักลงทุนไม่ประสงค์จะลงทุนต่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น ขอให้นักลงทุนอย่าตื่นตระหนก หรือกังวลจนเกิดภาวะการไม่ต่ออายุตั๋วบี/อี จนอาจจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ
“ตลท.ขอย้ำว่าบริษัทที่ออกตั๋วบี/อี ไม่ได้จะผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเฉพาะแห่ง ซึ่งตลท.ติดตามและขอข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนที่เกิดขึ้นปัญหาให้แจ้งข้อมูลโดยเร็ว เพื่อให้นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจ ทั้งนี้ บริษัทที่ออกตั๋วบี/อี ประมาณ ร้อยละ 75 เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนอีกร้อยละ 25 เป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมาการออกตั๋วบี/อี เป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารสภาพคล่อง” นางเกศรา กล่าว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มั่นใจว่า การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี ไม่ลุกลาม เป็นปัญหาเฉพาะบางบริษัทในวงเงินไม่มาก และส่วนที่จำหน่ายผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. ก็มีเพียงไม่กี่บริษัท สัดส่วนการลงทุนน้อยและส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ที่ไม่ได้มีการจัดอันดับเครดิต (unrated) ซึ่งเสนอขายได้เฉพาะในวงแคบต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อยเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่น่ากังวล
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนที่ไม่เข้าใจ จนอาจจะกระทบต่อบริษัทที่จะมีการออกตั๋วบี/อี ใหม่ ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุน ดังนั้น บริษัทอาจจะต้องใช้การระดมทุนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
นางวรวรรณ กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังศึกษา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนใช้ตั๋วบี/อี ตรงตามวัตถุประสงค์ คือ เพื่อเสริมสภาพคล่องและเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทหลายแห่งใช้ตั๋วบี/อี ผิดวัตถุประสงค์เป็นการระดมทุนระยะสั้น เพื่อไปใช้หนี้เงินกู้ระยะยาว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาพรวมการลงทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุน.-สำนักข่าวไทย