กทม. 14 พ.ย.-นายกฯ ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมมือกันทำให้สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้น สั่งเร่งฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ เล็งเปิดประเทศทางชายแดนใต้ช่วงปลายปี
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หลังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบค.ส่วนหน้า) โดยมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด -19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) โดยรวมดีขึ้นแล้ว และแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิต เริ่มลดลงโดยลำดับ พร้อมกับเร่งดำเนินการฉีดวัคซีน ตั้งเป้าเปิดด่านชายแดนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลายปีในจังหวัดที่พร้อม
นายกรัฐมนตรี ขอบคุณความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนาทุกศาสนา สถานบันการศึกษา ผู้ประกอบการ สถานพยาบาลของรัฐ/เอกชน บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งเครือข่าย อสม. และประชาชน ที่ได้บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ และได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดน 4 จังหวัดครอบคลุมทุกมิติทั้งการป้องกันการติดเชื้อ ควบคุมการแพร่ระบาด รักษาผู้ป่วย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ตลอดจนการเตรียมความพร้อมสู่การผ่อนคลายมาตรการเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกทั้งการกระจาย Antigen Test Kit (ATK) ให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงและตรวจหาเชื้อโควิด-19 ควบคู่การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะ Home Isolation, Community Isolation และโรงพยาบาลสนาม ICU สนาม สำหรับอัตราการครองเตียงในภาพรวม ยังมีเตียงว่างอีก 1.6 หมื่นเตียง หรือ 43%
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มีความครอบคลุมเฉลี่ยเกินร้อยละ 60 ขณะที่จังหวัดสงขลา มีประชากรที่ได้รับการฉีดเข็ม 1 แล้ว ครอบคลุมกว่าร้อยละ 71 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ทั้งรูปแบบ On Site และรูปแบบ Mobile Unit เพื่อให้ไปตามเป้าหมายร้อยละ 70 พร้อมกันนี้จะเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์แบบเจาะกลุ่มประชาชน เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นหลังการรับวัคซีน เพราะขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกกลัวที่จะมารับวัคซีน โดยการประชาสัมพันธ์ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาคมต่างๆ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกเผยแพร่คำวินิจฉัย (ฟัตวา) (เมื่อ25 พ.ค.64) ระบุว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ขัดหลักศาสนาและเป็นสิ่งจำเป็นตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของสังคม
“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จนทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และดีใจที่รับทราบว่า ประชาชนในพื้นที่ได้ผนึกกำลังเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประเทศต้อนรับปีใหม่ 2565 ซึ่งทาง ศบค. ส่วนหน้า อยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดด่านสะเดา จ.สงขลา ด่านโกลก จ.นราธิวาส ด่านบตง จ.ยะลา และด่านวังประจัน จ.สตูล ในช่วงปลายปี ประมาณ 16 ธ.ค. เพื่อให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้กลับมาเดินหน้าต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว.-สำนักข่าวไทย