สธ.30 ม.ค.-กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่น้ำเริ่มลดลงต้องระวังป่วยด้วยโรคฉี่หนู โดยเฉพาะการเดินลุยน้ำย่ำโคลน ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อย่าซื้อยากินเอง อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาน้ำท่วมหลายจังหวัดภาคใต้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในช่วงน้ำลดนี้ประชาชนต้องระมัดระวังโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส เนื่องจากสภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัยหรือทางเดินชื้นแฉะ เป็นแอ่งน้ำขัง โดยเชื้ออาจอยู่ตามบริเวณดังกล่าวได้ เชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 – 27 มกราคม 2560 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูในพื้นที่ภาคใต้แล้ว 126 คน เสียชีวิต 1 ราย และอยู่ระหว่างรอผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการอีก 2 ราย ที่จ.ตรัง และจ.กระบี่
สำหรับอาการของโรคฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด อาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู โดยเฉพาะประชาชนในภาคใต้ ดังนี้ 1.ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานานหากจำเป็น ต้องเดินลุยควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง 2.ผู้เป็นโรคเบาหวานต้องระมัด ระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง
3.หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล การใช้เพียงพลาสเตอร์ปิดแผลไม่สามารถกันน้ำได้ร้อยเปอร์เซนต์ 4.หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน และ 5.การเข้าบ้านหลังน้ำลด ต้องกำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้
นอกจากนี้กรมควบคุมโรค มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดโรคติดต่อระบาดในช่วงน้ำลด และส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประสบภัยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเฝ้าระวังโรค ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรคแก่ประชาชน หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 .-สำนักข่าวไทย