กรุงเทพฯ 26 ต.ค. – ไทยพบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาสะสมมานาน แม้มีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งช่วยคุ้มครองและมีกลไกการแจ้งเบาะแสและช่วยเหลือ แต่จากสถิติพบว่าในช่วงนี้มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น จากหลายปัจจัย ขณะที่มีมุมมองกุมารแพทย์เด็กและวัยรุ่น ห่วงเด็กที่ต้องอยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงที่จะส่งผลต่อสภาพจิตใจและพฤติกรรมในอนาคตด้วย
1837 ราย คือจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในรอบเพียง 10 เดือน ช่วงปี 63-64 จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
แม้เพียงในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปรากฏออกมาให้เห็นในสื่อสาธารณะ แต่อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. ระบุยังมีครอบครัวในสังคมไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกปิดบังและตกเป็นเหยื่อความรุนแรงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ
จากข้อมูลพบในรอบ 6 ปี ไทยมีสถิติความรุนแรงในครอบครัวรวม 9,214 ราย เฉลี่ยพบเหยื่อในครอบครัว 128 รายต่อเดือน หรือพบถึง 4 รายต่อวัน กราฟพบตัวเลขที่พุ่งสูงช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ครอบครัวต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันยาวนานขึ้น ประกอบกับเครียดสะสมปัญหาปากท้อง และปัจจัยการดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ทำให้เกิดความรุนแรงทั้งทางร่างกายและทางเพศ ที่ผ่านมาไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวปี 50 เป็นกฎหมายสำคัญที่จะนำมาใช้คุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่ที่น่าห่วงคือสถานการณ์โควิด ทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยากขึ้นด้วย
ด้านกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น อธิบายว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมมานาน โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา หรือผู้พิการ ที่ประสบปัญหา ส่วนหนึ่งแม้ไม่โดนกระทำทางร่างกายรุนแรง แต่ก็ถูกกระทำซ้ำทั้งทางร่างกาย จิตใจ สะสม
ในงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อความรุนแรงทางเพศกับการเข้าถึงความยุติธรรมในช่วงโควิด ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ข้อมูลจากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ยังระบุพบปัญหาความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังใช้สื่อออนไลน์เผยแพร่ภาพทำให้อับอาย ขณะเดียวกันการระบาดของโควิด ทำกระบวนการทางกฎหมายล่าช้า ส่งผลให้ปัญหารุนแรงขึ้น บางกรณีนำมาสู่การเสียชีวิต ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไข อุดช่องโหว่ของกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน โดยเพิ่มกลไกการทำงานภาคส่วนต่างๆ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงการป้องกัน แก้ไข เยียวยา ยังครอบคลุมไปถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว
นอกจากนี้ในมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องยังเห็นตรงกันว่าสิ่งสำคัญที่ลดปัญหาได้คือ หากพบเห็นความรุนแรงในครอบครัวอย่านิ่งเฉย และปรับทัศนคติที่มองว่าผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย