กรุงเทพฯ 24 ต.ค.- กรมการขนส่งทางบก เดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ค่าฝุ่นละอองเป็นไปตามมาตรฐาน กวดขันตรวจวัดควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสภาพรถ ส่งผลให้ปีงบประมาณ 2564 จำนวนรถที่ตรวจพบควันดำเกินเกณฑ์ที่กำหนดลดลง และส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานสะอาด ลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้กังวลต่อคุณภาพอากาศของประเทศไทยว่ามีสารก่อมะเร็งเข้าขั้นวิกฤตหนัก ในอากาศบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเกิดจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซล โดยสาเหตุสำคัญมาจากการใช้น้ำมันยูโร 1-3 ที่ทั่วโลกห้ามใช้แต่กลับมีการใช้ในประเทศไทย รวมถึงการไม่เข้มงวดกับการปล่อยควันดำรถและโรงงานอุตสาหกรรมนั้น กรมการขนส่งทางบกขอเรียนว่า รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในถังเครื่องยนต์ อาทิ แก๊สโซลีน ก๊าซธรรมชาติอัด และเครื่องยนต์ดีเซล จะมีการปล่อยมลพิษหลังจากที่เกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งประกอบด้วยก๊าซและฝุ่นละอองชนิดต่างๆ เช่น CO2, CO, HC, SOx, NOx และ PM เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีปริมาณไม่เกินตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ปัจจุบันรถยนต์ดีเซลใหม่ที่จะนำมาจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกทุกคัน จะต้องมีค่ามลพิษเป็นไปตามมาตรฐานบังคับของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยรถยนต์ดีเซลล์ขนาดเล็กเป็นไปตามมาตรฐานยูโร 4 ขึ้นไป และดีเซลล์ขนาดใหญ่เป็นไปตามมาตรฐาน
ยูโร 3 ขึ้นไป
สำหรับรถที่อยู่ระหว่างการใช้งานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษได้ประกาศกำหนดเกณฑ์มาตรฐานควันดําที่ใช้สำหรับการตรวจสภาพทั้งรถเก่าและรถใหม่ โดยจะต้องมีค่าความทึบแสงไม่เกิน 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรถที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์จะไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ และจะต้องดำเนินการแก้ไขทันที อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติให้บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ยูโร 5 ภายในปี 2567 ทั้งนี้ เครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 ต้องใช้น้ำมันที่มีระดับ Sulphur ต่ำ เพื่อป้องกันปัญหาอุปกรณ์ดักจับมลพิษอุดตัน จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ด้วย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงมีมติบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ในส่วนของปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการคมนาคมขนส่งและการจราจร นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เพื่อให้ค่าฝุ่นละอองเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชน ในปีงบประมาณ 2564 (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการเข้มข้นทุกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง สั่งการให้ผู้ตรวจการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันตรวจสอบควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารที่ใช้งานบนท้องถนน โดยมีการตรวจควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารทั่วประเทศแล้วจำนวนทั้งสิ้น 255,379 คัน พบรถที่มีค่าควันดำเกินกำหนดและพ่นห้ามใช้ จำนวน 1,922 คัน ผู้ประกอบการและเจ้าของรถทุกคันที่ถูกพ่นห้ามใช้ต้องดำเนินการแก้ไขและผ่านการตรวจสภาพกับสำนักงานขนส่งจึงจะนำรถกลับไปใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งผลจากการตรวจสอบควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก พบรถที่ตรวจพบควันดำเกินเกณฑ์ที่กำหนดมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปีงบประมาณ 2565 กรมการขนส่งทางบก ยกระดับความเข้มข้นมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มความเข้มข้นตรวจวัดควันดำรถทุกประเภทที่มาดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถ ณ กรมการขนส่งทางบกและสำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้มีรถที่ค่าควันดำเกินกำหนดออกไปใช้งานบนท้องถนน และจัดส่งผู้ตรวจการออกตรวจวัดควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารที่ใช้งานบนท้องถนนทั่วประเทศต่อเนื่องทั้งปี โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และถนนสายหลักและสายรองที่เข้าสู่กรุงเทพมหานคร รวมถึงที่จุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ Checking Point หากตรวจพบค่าควันดำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (เกินกว่า 45 เปอร์เซ็นต์) ผู้ฝ่าฝืนจะถูกเปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถด้วยการพ่นข้อความ “ห้ามใช้” โดยเจ้าของรถต้องนำรถไปแก้ไขและนำมาตรวจสภาพอีกครั้งจนผ่านการตรวจวัดจึงจะนำไปใช้งานได้ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้บูรณาการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร ในการออกตรวจวัดควันดำรถบริเวณที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูง ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาค่าฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน เข้มงวด
การตรวจสภาพรถของสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) โดยจัดตั้งศูนย์ควบคุมการตรวจสภาพรถ (VICC) เพื่อควบคุมตรวจสอบการดำเนินการตรวจสภาพรถแบบเรียลไทม์ผ่านกล้อง CCTV ใช้เครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสง แทนเครื่องวัดควันดำระบบกระดาษกรองเพื่อประสิทธิภาพในการตรวจวัด และควบคุมการตรวจสภาพรถของ ตรอ. ให้เข้มงวดการตรวจวัดควันดำรถยนต์ กำชับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ให้เข้มงวดตรวจสอบสภาพรถโดยสารไม่ให้ปล่อยควันดำขณะนำมาใช้งานบนถนน ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่ง ตรวจวัดควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก ณ สถานประกอบการ รวมถึงเพิ่มจุดบริการตรวจสภาพรถ ณ สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล สถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า และสถานีขนส่งสินค้าคลองหลวง นอกจากนี้ ได้นำมาตรการส่งเสริมการใช้รถพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิง มาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะและขนส่งสินค้าทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
โดยได้พิจารณากำหนดมาตรการด้านภาษี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำรถพลังงานสะอาดมาให้บริการ โดยปัจจุบันมีรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้าที่จดทะเบียนและนำมาใช้งานบนท้องถนนแล้ว จำนวน 1 เส้นทาง ได้แก่ สาย 35 พระประแดง–สายใต้ใหม่ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาควันดำ โดยการแจ้งเบาะแสรถบรรทุกและรถโดยสารควันดำทางสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง Facebook 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ.-สำนักข่าวไทย