ภูมิภาค 21 ต.ค. – จ.สกลนคร สืบสานเทศกาลออกพรรษาแห่ปราสาทผึ้ง โดยปีนี้ไม่มีขบวนแห่ แต่จัดสร้างนำมาตั้งโชว์และถวายเป็นพุทธบูชา ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระอารามหลวง ส่วนนครพนม สุดอลังการ นางรำ 8 ชนเผ่า ร่วมพิธีรำบูชาองค์พระธาตุพนม สืบสานประเพณีโบราณ ท่ามกลางมาตรการโควิดเข้ม
ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระอารามหลวง เขตเทศบาลนครสกลนคร มีการจัดทำปราสาทผึ้งมาตั้งโชว์ให้นักท่องเที่ยวได้ชมความวิจิตรงดงามอลังการ โดยเป็นปราสาทผึ้งของชาวคุ้มวัดพระธาตุเชิงชุม และวัดบ้านพะเนาว์ ซึ่งล้วนตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง มีปราสาทผึ้งรูปทรงจตุรมุข 9 ยอด มีลวดลายที่สื่อถึงพุทธศาสนา และตามรอยพระเกจิอาจารย์ อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นต้น ซึ่งมีการตั้งโชว์ให้นักท่องเที่ยวได้ชมและบันทึกภาพ ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม ก่อนจะนำไปถวายเป็นพุทธบูชา
ทั้งนี้ การจัดทำปราสาทผึ้งในปีนี้ไม่มีขบวนแห่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด จึงต้องจัดแบบนิวนอร์มอล โดนคงอนุรักษ์และสืบสานงานประเพณีให้คงอยู่
อลังการนางรำ 8 ชนเผ่า รำบูชาองค์พระธาตุพนม
บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายชาธิป รุจนาเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาด จ.นครพนม นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมถึงนางรำจากพื้นที่ 12 อำเภอ รวม 8 ชนเผ่า ร่วมพิธีถวายเครื่องสักการะบูชาองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี บรมเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกขององค์พระธาตุพนม ก่อนจะทำพิธีฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนมของสาวงาม 8 ชนเผ่า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ถือเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต จัดขึ้นทุกปีในช่วงวันออกพรรษา เป็นการสืบสานประเพณีอันดีงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อกันว่าเป็นสิริมงคล จะทำให้มีความสุข บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งจะมีการรำบูชาของแต่ละชนเผ่า ก่อนจะมีการรำรวมเป็นชุดเดียวกัน และชุดสุดท้ายจะเปิดโอกาสให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ร่วมรำบูชา เพื่อเป็นสิริมงคล โดยในปีนี้เน้นจัดกิจกรรมแบบนิวนอร์มอล คุมเข้มมาตรการป้องกันโรคโควิด ลดนางรำจาก 500 คน เหลือแค่ 50 คน 3 ชุดการแสดง
สำหรับการรำบูชาองค์พระธาตุพนม ถือเป็นประเพณีโบราณที่มีการริเริ่มฟื้นฟูขึ้นตั้งแต่ปี 2527 ในช่วงงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ จนกระทั่งมีการพัฒนาสืบสานเป็นประเพณีสำคัญมาถึงปัจจุบัน เป็นการแสดงออกถึงความโดดเด่นของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาว จ.นครพนม โดยทุกปีจะจัดขึ้นในช่วงเช้าของวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ก่อนจะมีการไหลเรือไฟในช่วงเย็น.-สำนักข่าวไทย