นนทบุรี 6 ก.พ.- ผลการศึกษาผลกระทบภายใต้นโยบาย ของประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเศรษฐกิจไทย ยังไม่มีผลกระทบทางตรง และยังเป็นโอกาสในการส่งออกไป ทดแทนตลาดจีนและเม็กซิโกที่มีแนวโน้มถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ทำให้ยังประเมินการส่งออกทั้งปี ในกรอบร้อยละ 2.5-3.5 ตามเดิม
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบภายใต้นโยบาย ของประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเศรษฐกิจไทยในเบื้องต้น หลังจากได้ดำเนินการโดยเฉพาะการออกคำสั่งพิเศษแล้ว 8 ฉบับ ภายใน 2 สัปดาห์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการนั้น ในภาพรวม การค้าระหว่างประเทศของไทย เนื่องจากไทย ไม่ได้เป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าในระดับสูง แต่ไทยเฉลี่ยได้ดุลการค้าปีละ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ไทยเชื่อว่ายังมีโอกาสส่งออกสินค้าไปทดแทน สินค้าจากจีนและเม็กซิโก ที่มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงการที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ TPP ทำให้ไม่เสียเปรียบคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญอย่างเวียดนามและมาเลเซีย โดยสินค้าที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เหล็ก อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลแช่แข็ง และเชื้อเพลิงและพลังงาน เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการ ควรเตรียมความพร้อม และพิจารณาเข้าไปทำตลาด เร่งใช้ความได้เปรียบก่อนประเทศอื่น
นอกจากนี้ สหรัฐ มีโอกาสที่จะทบทวนสถานะประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา PWL ให้ปรับระดับดีขึ้น รวมถึงสิทธิพิเศษทางภาษีศุลากร หรือ GSP กับไทยในปีนี้ ซึ่งมองว่าสหรัฐ จะยังคงพิจารณาตามเกณฑ์ที่เคยใช้ปกติ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจว่า ในระยะสั้น หรือ ในไตรมาสแรก จะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน โดยยังคงประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้ จะปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวในกรอบร้อยละ 2.5 ถึง 3.5 ตามเดิม
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามผลกระทบทางอ้อมโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่เป็นวัตถุดิบไปจีน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนย้ายเงินทุนออก และมาตรการทางการค้าที่อาจจะมีมาเพิ่มเติม รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีผลต่อสินค้าเกษตร แต่มั่นใจว่าจะได้รับการทบทวนที่ดีขึ้น แต่ผู้ส่งออก ควรติดตามสถานการณ์ และมีความรอบคอบในการลงทุนร่วมทางประกันความเสี่ยงด้านอัตราแรกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม.-สำนักข่าวไทย