ยธ.22 ก.ย.-ป.ป.ส.-ดีเอสไอ ปฏิบัติการขยายผลยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด ภายใต้ “ปฏิบัติการพาลีปราบยา” มีเงินหมุนเวียนในบัญชีนักค้าหลายพันล้านบาท
ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในนาม ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพร้อม นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายอุดมชัย โลหณุต ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด และผู้แทนหน่วยงานป.ป.ส.และ ตร.ภาค ติดตามการปฏิบัติการยึด/อายัดทรัพย์สินกลุ่มเครือข่ายการค้ายาเสพติด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อเนื่องพื้นที่ภาคกลาง และในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และพื้นที่กรุงเทพฯ มีรายละเอียด ดังนี้
1.สำนักงาน ปปส.ภาค 4 ร่วมกับ ตำรวจภูธร ภาค 4 สืบสวนสอบสวนขยายผลการจับกุมบุคคลในเครือข่ายการค้ายาเสพติดของนายเชิดชัย คงฟู รวม 3 คดี ตั้งแต่ห้วงวันที่ 12 กรกฎาคม – 27 ตุลาคม 2563 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและรวบรวมหลักฐาน ขออนุมัติจับกุมเครือข่ายผู้สั่งการ ในข้อหาสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 และศาลจังหวัดบึงกาฬได้อนุมัติให้จับกุมผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ นายเชิดชัย คงฟู น.ส.นุชนารถ แช่มช้อย นายบุญอุ้ม ทึนหาร (ถูกจับกุมเมื่อ 3 เมษายน 2634) และ MRS.DUANGCHAI SENGKHAMYOUNG ชาวลาว จากนั้นวันที่ 22 ก.ย.64 สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลยึดทรัพย์สินบุคคลในเครือข่าย ในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม รวม 4 จุด
ผลปฏิบัติการ เลขาธิการ ป.ป.ส. มีคำสั่งยึด/อายัดทรัพย์สินของเครือข่ายการค้ายาเสพติดไว้แล้ว มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท ประกอบด้วยบัญชีธนาคาร ยานพาหนะ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สิน อื่นๆ
2.วันที่ 22 ก.ย.64 กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ,สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตำรวจภูธรจังหวัดตาก สนธิกำลังร่วมเข้าค้นบริษัทค้าอัญมณี ตั้งอยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ตามอนุมัติศาลจังหวัดแม่สอด ที่ ค.179/2564 ลงวันที่ 21 ก.ย.2564 และในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ห้องชุดคอนโดหรู ย่านสาทร ตามอนุมัติศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ ค.151/2564 ลงวันที่ 20 ก.ย.2564
โดยปรากฏผลการสืบสวนสอบสวน พบว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีธุรกรรมต้องสงสัยและมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเส้นทางการเงินกับกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด ซึ่งผลการตรวจสอบย้อนหลัง 9 ปี นับแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน พบมีเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคารของผู้ต้องสงสัย บุคคลใกล้ชิดและบุคคลอื่นๆ ในห้วงเวลาเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับผลประกอบการของบริษัท โดยยึด/อายัดทรัพย์สินต้องสงสัยมีมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าฐานานุรูป พฤติการณ์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5 มาตรา 7 และมาตรา 9 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ผลการดำเนินงานภายใต้ปฏิบัติการครั้งนี้ ยึด/อายัด ทรัพย์สิน มูลค่ากว่า 45 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย