สำนักข่าวไทย 15 ก.ย.–“หมอประสิทธิ์” ชี้ให้รัฐดูบทเรียนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หลังตัดสินใจเปิดประเทศ 1 ต.ค.นี้ ห่วงเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ดื้อต่อวัคซีน ลำพังปัจจุบันฉีดเข็ม 1 แค่ 38% หากให้ปลอดภัยต้อง 60% เปรยหมอพยาบาลต้องเผชิญงานหนักอีกยังไม่ได้พัก
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงกรณีการเดินหน้าเปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาไม่น่ากลัว เพราะทั่วประเทศก็เป็นสายพันธุ์นี้กันเกือบหมด ที่ห่วงคือสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน โดยการเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น เข้าใจว่าน่าจะเป็นการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจ แต่อยากให้นำบทเรียนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มาประกอบพิจารณาด้วย เพราะแม้ฉีดวัคซีนครบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ และหากยกเลิกมาตรการกักตัวหรือ Quarantine ก็น่าเป็นห่วง เพราะการทำแซนด์บ็อกซ์ หมายถึงการพิสูจน์ การทดลองในจำลองเหตุการณ์บางพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมด ไม่เกิดผลกระทบวงกว้าง และสามารถยกเลิก หรือแก้ไขได้
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในการเปิดประเทศที่ไทยกำลังจะทำนี้ ต้องถือว่าเปิดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ อันนี้มองในทางวิชาการ เพราะการเปิดประเทศในต่างประเทศ หมายความว่าประเทศนั้นๆ มีการฉีดวัคซีนเกิน 70% แต่สำหรับประเทศไทย ขณะนี้การเฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ยังแค่ 38% เข็ม 2 เพียง 18% เท่านั้น หากต้องการความชัวร์ว่าเปิดจริงมีความปลอดภัย ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ได้ 60% และเข็ม 2 ต้องได้ 40-50% แต่จะเร่งฉีดตอนนี้ก็คงไม่ได้ ความจริงหากจะเปิดประเทศ รออีกสัก 1 เดือนก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมจริงๆ ดังนั้นใครทำอะไรต้องรับผิดชอบด้วย
พร้อมกล่าวว่า จากการนี้การทำงานของแพทย์ก็คงต้องกลับมาเหนื่อยกันอีก ยังแทบไม่ได้พักกันเลย ตอนนี้สิ่งที่ห่วงคือ หากมีการกลับมาระบาดอีก เตียงผู้ป่วย เตียงไอซียูต้องเพียงพอ ไม่ควรต้องเผชิญกับเตียงไม่พออีก และหวังว่าจะไม่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีผลต่อวัคซีน. -สำนักข่าวไทย