กรุงเทพฯ 10 ก.ย.-“พล.อ.ประวิตร” สั่งเร่งช่วยปชช. จากภาวะน้ำท่วมทุกพื้นที่ กำชับสทนช.เปิดทางระบายน้ำ กำจัดวัชพืช พร้อมกักเก็บน้ำ ไว้ใช้ฤดูแล้งด้วย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบ Video Conference โดยที่ประชุมรับทราบผลการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ การดำเนินงานรับมือฤดูฝน 10 มาตรการ ซึ่งมีความคืบหน้าในภาพรวมตามแผนงาน โดย พล.อ.ประวิตรสั่งการให้แต่ละหน่วยงานเร่งรัดโครงการควบคู่การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ และแจ้งเตือนเพื่อเตรียมพร้อมให้ทันต่อสถานการณ์ ที่อาจจะเกิดขึ้น
พล.อ.ประวิตร เน้นย้ำทุกหน่วยงานเตรียมแผนก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัยให้เป็นรูปธรรมและชัดเจนเป็นรายพื้นที่ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงต่าง ๆ ที่เป็นเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมทั้งในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า ที่ต้องแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบโดยเร็ว เพื่อเตรียมการอพยพป้องกันผลกระทบที่ผาจจะให้เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ฝน (One Map) พบว่า ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.64 ปริมาณฝนทั้งประเทศจะมีค่ามากกว่าค่าปกติถึง 7-15% แนวโน้มการเกิดพายุขณะนี้ ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง แต่ก็จะประมาทไม่ได้
“ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 64 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสื่อสารต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมตัวได้ทันต่อสถานการณ์ภัยที่จะเกิดขึ้น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมการรองรับกรณีฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อรองรับน้ำหลากที่จะเกิดขึ้นเป็นรายหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด แบ่งเป็น เดือน ก.ย.-ต.ค.64 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง และเดือนพ.ย.-ธ.ค.64 ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อแจ้งให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดรับทราบและซักซ้อมการเผชิญเหตุ เร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำ รวมทั้งเน้นย้ำให้วางแผนเร่งเก็บกักน้ำก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝนเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย” พล.อ.ประวิตร กล่าว
พล.อ.ประวิตร กำชับสทนช. กอนช. จังหวัดและกองทัพ ให้เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม / น้ำหลาก และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่กำลังได้รับผลกระทบทั่วทุกภาคของประเทศอยู่ในขณะนี้ พร้อมให้การสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร และยานพาหนะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน อย่างเต็มที่ รวมทั้งให้เตรียมการเยียวยาช่วยเหลือ เมื่อน้ำลดแล้ว อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันจะต้องดำเนินการ กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ไว้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าโครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล พื้นที่ EEC โดยสทนช.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษา พบว่าพื้นที่มาบตาพุด Site B (นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) มีความเหมาะสมสำหรับการดำเนินการมากที่สุด และให้จัดทำ Road Map เสนอกนช.ต่อไป เห็นชอบการปรับปรุงแผนพัฒนา ฟื้นฟู คลองแสนแสบ ให้เป็นแผนหลัก เพื่อเร่งสร้างความปลอดภัยในการสัญจร,การปรับปรุงภูมิทัศน์,การแก้ปัญหา คุณภาพน้ำ ตลอดจนการป้องกันการบุกรุก ทำลายทรัพยากรในคลอง และเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้ง ในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย สำหรับเรื่องสำคัญที่ผ่านความเห็นชอบจาก กนช.ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา โครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จ.ระยอง โดยให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน.-สำนักข่าวไทย