กรุงเทพฯ 9 ก.ย.-GPSC ปรับกลยุทธ์ใหม่เร่งเติมพอร์ตพลังงานทดแทนให้เกินครึ่ง ด้าน BCPG ออกหุ้นกู้กรีนบอนด์ 12,000 ล้านบาท
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า GPSC ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ลดภาวะโลกร้อนที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก หรือ 4S ที่จะขับเคลื่อนให้ GPSC ก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืน 1 ใน 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
GPSCจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในพอร์ตให้มีสัดส่วนมากกว่า 50% จากกำลังการผลิตรวมในปี 2573 พร้อมทั้งก้าวสู่นวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยเทคโนโลยีเซมิโซลิด (SemiSolid) เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สอดรับกับเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืนและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติในปีนี้ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่จะผลักดันให้ประเทศต่างๆ ไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
สำหรับกลยุทธ์ 4S ประกอบด้วย S1: Strengthen and expand the Core การสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมขยายการให้บริการในธุรกิจหลัก ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตที่มีเสถียรภาพในระดับสากล สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง S2: Scale – up Green energy การเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน S3: S-Curve & Batteries การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน การพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและยานพาหนะอื่นๆ รวมถึงการต่อยอดธุรกิจเชิงนวัตกรรม และ S4: Shift to Customer – centric Solutions บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค โดยใช้นวัตกรรมพลังงานทั้งโรงไฟฟ้าหลักและโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ด้วยระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงเสนอโซลูชั่นที่สามารถบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน
“กลยุทธ์ใหม่จะเน้นการขยายโอกาสในการพัฒนาพลังงานที่เป็นแพลตฟอร์ม ร่วมกับ Local partner ในประเทศเป้าหมาย โดยเฉพาะ อินเดีย เวียดนามและไต้หวัน ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 7,102 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในสัดส่วน 37% ก๊าซธรรมชาติ 48% ถ่านหิน 11% และอื่น ๆ 4%” นายวรวัฒน์กล่าว
นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการนำเสนอหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ กรีนบอนด์ ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้ของบริษัทฯ สู่ตลาดตราสารหนี้เป็นครั้งแรก โดยได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเกือบ 3 เท่า บริษัทฯ จะนำเงินไปชำระคืนเงินกู้เดิมในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ และใช้สำหรับการพัฒนาและลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ในอนาคต
“จากการสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้ (book building) พบว่า นักลงทุนได้ให้ความสนใจลงทุนเกือบ 3 เท่าของมูลค่าการเสนอขายหุ้นกู้ที่ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัทฯ ในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของภูมิภาคเอเซีย ดังนั้น บริษัทฯ จึงตัดสินใจขยายวงเงินในการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม รวมเป็น 12,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนให้ครอบคลุมทุกประเภท” นายบัณฑิตกล่าว.-สำนักข่าวไทย