ทำเนียบฯ ก.ย.-ครม.รับทราบติดตามเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ ปี 64 ณ วันที่ 31 ก.ค.64 เบิกจ่ายได้ร้อยละ 77.13 กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ครองแชมป์เบิกจ่ายสูงสุด ร้อยละ 81.48 ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ เบิกจ่ายได้น้อยที่สุด ร้อยละ 33.48
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ก.ย.64 รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 2/2564 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 โดยพบว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายเงินปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 3,452,273 ล้านบาท จากวงเงิน 4,476,189 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 77.13 แยกเป็นงบประมาณรายจ่ายปี 2564 วงเงิน 3,285,963 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 2,488,890 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.74 เป็นรายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้ว 2,168,515 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.19 รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายแล้ว 320,375 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.49 เงินกันไว้เหลื่อมปีเบิกจ่ายแล้ว 166,031 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.60
สำหรับเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายแล้ว 262,410 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.33 และโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพี่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีแผนการใช้จ่ายที่วงเงิน 641,259 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 534,942 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.42
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2564 มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รวม 103 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมด 2,544,708 ล้านบาท มีแผนการใช้จ่าย 190,245 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 96,675 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.82
สำหรับกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เบิกจ่ายได้ร้อยละ 81.48, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน
ส่วนกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำสุด 10 อันดับ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ เบิกจ่ายได้ร้อยละ 33.48, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวัฒนธรรม ด้านรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าจะมีปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2564 ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), การประปานครหลวง, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, องค์การเภสัชกรรม, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และการท่าเรือแห่งประเทศไทย
ขณะที่ปัญหาอุปสรรคการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ขาดแคลนแรงงานในการก่อสร้าง ประกอบกับหลายพื้นที่มีการประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัด ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในงวดงานต่างๆ ตามที่ระบุในสัญญา รวมทั้งไม่สามารถตรวจรับงานในพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า
สำหรับมาตรการแก้ไขการเบิกจ่ายล่าช้า ทางกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเร่งรัดการดำเนินการ และแจ้งเวียนมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น ให้หน่วยงานเจ้าของงบประมาณกำชับเจ้าหน้าที่บริหารจัดการ เพื่อเร่งรัดการก่อหนี้และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 เพื่อไม่ให้เงินงบประมาณถูกพับไป เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย