กรุงเทพฯ 2 ก.ย.-จับตาศึกซักฟอกนายกรัฐมนตรี และ 5 รัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสข่าว เปิดดีล โหวตล้มนายกรัฐมนตรี ภาพรอยร้าวภายในพรรคพลังประชารัฐปรากฏชัด ทำให้หลายฝ่ายจับตา พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ จะยอมให้น้องเล็กถูกเขย่าเก้าอี้หรือไม่
การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 5 คน ท่ามกลางกระแสข่าวที่มีมาเป็นระยะ กดดันให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปรับคณะรัฐมนตรี สอดรับกับภาพ ร้อยเอกธรรรมนัส พรหมเผ่า เลขาฯ พรรคพลังประชารัฐ นั่งล้อมวงคุยกับพรรคการเมืองเล็ก ทำให้เรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะข่าวว่า กลุ่ม 4 ช.รัฐมนตรีช่วย หวังเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ เล็งไปที่การทวงคืนเก้าอี้ มท. 1 จากพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
นายกรัฐมนตรีมีท่าทีไม่พอใจ และออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนานเกือบ 20 นาที ประกาศด้วยท่าทีแข็งกร้าว ว่าไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษ ถ้าใครคนนั้น เดินเกมเบื้องหลัง เปิดดีลโหวตล้มนายกรัฐมนตรี มองว่าไม่ใช่เวลา ถึงขั้นขู่ว่า การแอบอ้างเบื้องสูงในการเปลี่ยนตัวนายกฯ เป็นความผิดร้ายแรง
ทางด้านร้อยเอกธรรมนัส ออกมาปฏิเสธด้วยท่าทีดุเดือดเลือดขึ้นหน้า ยืนยันไม่ล็อบบี้ใคร หรือให้พรรคใดมาโหวตคว่ำ คนปล่อยข่าว ขอให้ระวัง ถามกลับทำงานเพื่อประเทศชาติเหมือนตนหรือไม่ ส่วนตัวไม่ยึดติดตำแหน่ง และถ้ายังเป็นแกนนำพรรค คนที่สร้างเรื่องนี้จะไม่ได้ลงเลือกตั้งสมัยหน้า
กระแสข่าวครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ต้องออกมายืนยัน ไม่ปรับ ครม. ไม่ยุบสภาฯ แต่ภาษากายที่แสดงออกมา มีความไม่สบายใจไม่น้อย ยอมรับหารือกับพี่ใหญ่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้ไปสืบหาข้อเท็จจริง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันของฝั่งรัฐบาล และเหมือนว่า แรงกดดันครั้งนี้ ที่ไม่ใช่แค่เลื่อยขาเก้าอี้รัฐมนตรี แต่หมายถึงปัญหาภายในของ พี่น้อง 3 ป. ที่มีข้อกังขาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ พี่ใหญ่ แห่ง 3 ป. จะยอมให้มีกลุ่มก๊วน ออกมาเขย่าเก้าอี้น้องเล็ก
เป็นที่น่าสังเกตว่า เวทีซักฟอกครั้งนี้ แทบไม่มีองค์รักษ์พิทักษ์นายกฯ ลุกขึ้นตอบโต้ฝ่ายค้าน เหมือนที่ผ่านมา มีเพียงองค์รักษ์พิทักษ์ หมอหนู นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ยกขบวนหมอ จาก สธ. มาแถลงแจกแจงเรื่องจัดซื้อวัคซีนที่ฝ่ายค้านโจมตีว่ามีเงินทอน
ทั้งนี้การโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา 151 กำหนดว่า ต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ของ ส.ส.ที่อยู่ในสภาฯ และระหว่างเสนอญัญติ จะยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 170 (3) ระบุว่า ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเมื่อ สภาผู้แทนราษฏรมีมติไม่ไว้วางใจ และ ตามมาตรา 167 (1) รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แน่นอนว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้รับความไว้วางใจ ความเป็นนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง ส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อตรวจสอบคะแนนเสียงในสภาในการโหวตไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พบว่า มี ส.ส.อยู่ 488 เสียง แต่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 6 คน ทำให้มีเสียงเหลือ 482 เสียง เป็นเสียงรัฐบาล 270 เสียง ประกอบด้วย พลังประชารัฐ 119 (122) ภูมิไทย 61 ประชาธิปัตย์ 48 (51) ชาติพัฒนา 12 เศรษฐกิจใหม่ 5 (6) ชาติพัฒนา 4 รักผืนป่า 2 ที่เหลือพรรคเล็ก 9 พรรค พรรคละ 1 (พลังชาติไทย /ประชาภิวัฒน์/พลังไทยรักไทย/ครูไทย/ประชาธรรมไทย/พลเมืองไทย/ประชาธิปไตยใหม่/พลังธรรมใหม่)
ส่วนเสียง ฝ่ายค้าน 212 เสียง คือ เพื่อไทย 134 ก้าวไกล 53 เสรีรวมไทย 10 ประชาชาติ 7 เพื่อชาติ 5 ซึ่งรวมเสียงของนายมิ่งขวัย แสงสุวรรณ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ และนายมงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ จากพรรคไทยศรีวิไลย์ ไว้ด้วย เสียงไว้วางใจต้องมากกว่า 241 เสียง
ดังนั้นหาก ส.ส.พลังประชารัฐที่มีอยู่ในมือ ของ ร.อ ธรรมนัส 15 เสียง อีสาน 8 เสียง กทม. บางส่วน ไปรวมกับพรรคเล็กประมาณ 20 เสียง บวกเสียงของฝ่ายค้าน โหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่คะแนนเสียงรัฐบาลจะได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ถ้าเป็นเช่นนั้น แน่นอนว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องสิ้นสุดลง ส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ต้องจับตาวันที่ 4 ก.ย.นี้ รอดูผลสรุปการเขย่าเก้าอี้นายกฯ และบารมีพี่ใหญ่ของพลเอกประวิตร จะคุมเสียง ส.ส. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยึดเก้าอี้เป็นนายกฯ ต่อได้หรือไม่.-สำนักข่าวไทย