กรุงเทพฯ 31ส.ค.-กลุ่มบางจากฯตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 ปรับตัวทุกธุรกิจ และกำลังก่อตั้ง Syn Bio Consortium สร้างเทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจ bio-based
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมน้ำมันของโลกว่าจะมีประมาณการจุดสูงสุดของความต้องการน้ำมันโลก (peak oil demand) ในเวลาอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ดังนั้นองค์กรที่อยู่ในธุรกิจนี้จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างรับการเปลี่ยนเปลง ซึ่งภาพรวมของโลกในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) นั้น อยู่ที่มากกว่า 45,000 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยที่ประมาณ 0.9-1.0% ของโลก (ประมาณ 400 ล้านตัน/ปี) ซึ่งเมื่อพิจารณาว่า GDP ของไทยคิดเป็น 0.5% ของ GDP โลก แสดงว่าประเทศไทยมีการปล่อยเกินไปเป็นเท่าตัว ดังนั้น ไทยควรเร่งและกระตุ้นการลดการปล่อย GHG ในส่วนของธุรกิจของกลุ่มบางจากฯ คิดเป็นประมาณ 1% ของ GDP ของประเทศไทย ขณะที่ปล่อย GHG ประมาณ 0.2% ของปริมาณที่ประเทศไทยปล่อยเท่านั้น
กลุ่มบางจากฯได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยมีเป้าหมายสำคัญเป้าหมายแรก คือ คาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ในปี 2030 ซึ่งขณะนี้การบริหารธุรกิจต่าง ๆ ได้มุ่งหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือการปรับปรุงประสิทธิภาพต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้การปล่อย emission ลดลงได้ 20% ในปี 2024 และไปได้ถึง 30% ในปี 2030 ในขณะที่อีก 70% ต้องมีกลไกอื่นที่จะมาช่วย เช่นการลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียวและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ในช่วงเริ่มต้น ธุรกิจหลักๆ ของกลุ่มบางจากฯ คือ โรงกลั่นและสถานีบริการน้ำมัน และได้ปรับเปลี่ยนเพิ่มสัดส่วนธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจสีเขียว ได้แก่ โรงไฟฟ้าสีเขียว ธุรกิจชีวภาพ ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติต้นน้ำ ซึ่งระหว่างปี 2014-2019 บางจากฯ มี EBITDA เพิ่มขึ้น 50% แต่ emission เพิ่มขึ้นไม่ถึง 20% เป็นผลจากการควบคุม emission ของกลุ่มบางจากฯ ส่วนในอีก 7-8 ปีข้างหน้า วางแผนขยายธุรกิจโดยจะมี EBITDA เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แต่ให้มีการทยอยการลดการปล่อย CO2 จนเป็นศูนย์ในปี 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญและท้าทาย
สำหรับการปรับธุรกิจโรงกลั่นจะปรับเป็น niche products refinery โดยในอนาคต 30% ของผลิตภัณฑ์ที่มาจากโรงกลั่น จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมัน เพื่อลดการปล่อย emission ใน scope 3 (การปล่อยจากผู้ที่นำผลิตภัณฑ์ไปใช้) และจะเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานและเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ในธุรกิจการตลาด สถานีบริการน้ำมัน greenovative destination มีการเพิ่มประสิทธิภาพเช่น ติดตั้งหลังคาโซลาร์ นำน้ำจากหลังคามารดน้ำต้นไม้ และติดตั้ง EV Charger ส่วนธุรกิจโรงงานไฟฟ้าพลังงานสีเขียว บีซีพีจีฯ จะทำทั้งพลังงานทดแทนและเข้าสู่ธุรกิจการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพของบีบีจีไอฯ ใช้นวัตกรรม synthetic biology ผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากพืชแทนสัตว์ เช่น เนื้อจากพืช เสื้อผ้า เครื่องสำอาง โดยไม่ต้องทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ซึ่งจะช่วยลดการปล่อย emission โดยเฉพาะก๊าซมีเทนได้ และกำลังก่อตั้ง Syn Bio Consortium ร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อสร้างเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดธุรกิจ bio-based ต่าง ๆ ธุรกิจใหม่ๆ มีการลงทุนในธุรกิจที่เป็น frontier ธุรกิจที่จะเปลี่ยนโลก ล่าสุดคือธุรกิจไฮโดรเจน-.สำนักข่าวไทย