ทำเนียบฯ 5 ส.ค.-ศบค.กำชับประชาชนควรซื้อชุดตรวจโควิดที่ผ่าน อย. จากร้านขายยาหรือสถานพยาบาล ไม่ซื้อผ่านออนไลน์หรือร้านสะดวกซื้อ เกรงไม่ได้มาตราฐาน ย้ำ 4 กลุ่มหลักเสี่ยง ควรตรวจ เกรงไม่มีอาการ รู้ตัวเมื่อสาย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศบค.) กล่าวว่ากรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับระเบียบให้ประชาชนสามารถหาชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK มาตรวจได้เอง และ อย.ได้ขึ้นทะเบียนชุดตรวจให้ใช้ได้ 2 แบบ แบบแรกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะในสถานพยาบาล กับแบบที่ประชาชนซื้อมาตรวจเองได้ ซึ่งมีผลิตภัณท์ที่ผ่าน อย.แล้วมีจำนวน 19 ยี่ห้อ และกำลังพิจารณาเพิ่มอีก ทั้งนี้การเลือกซื้อควรซื้อที่ร้านขายยาหรือสถานพยาบาลเท่านั้น เพราะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่อนุญาตให้ซื้อออนไลน์หรือร้านสะดวกซื้อ เพราะเกรงจะได้ชุดตรวจที่ไม่ได้มาตราฐาน
สำหรับชุดทดสอบที่ผ่าน อย. จำนวน 19 ยี่ห้อ จะต้องเป็นชนิดแอนติเจน ไม่ใช้แอนติบอดี้ ต้องดูว่าเป็นการเก็บตัวอย่างจากจุดไหน หากเป็นการเก็บตัวอย่างจากโพรงหลังจมูก จะเป็นการเก็บตัวอย่างที่มีความยากลำบาก เป็นอุปกรณ์สำหรับบุคลาการทางการแพทย์ ในส่วนที่ประชาชาชนใช้เองจะเป็นการเก็บตัวอย่างโพรงจมูก ซึ่งการเก็บตัวอย่างนอกจากเลือกชุดที่ถูกต้อง ต้องใช้การเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องด้วย ผลตรวจก็จะแม่นยำ อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดอบรมการตรวจชุด ATK ในโรงงานด้วย
ส่วนกรณีที่ประชาชนมีความต้องการจะไปตรวจ ATK ที่สถานพยาบาลต่างๆ นั้น พญ.อภิสมัย เผยว่า ทาง ศบค.ได้ร่วมกับ Tech For Thailand รวบรวมสถานที่ตรวจโควิด-19 ที่ยังให้บริการ โดยสามารถเข้าเว็บไซต์ Koncovid.com เพื่อเข้าไปค้นหาสถานที่โควิด-19 ทั่วประเทศไทย หรือในกรุงเทพ โดยหากจะไปตรวจในสถานที่ใกล้บ้าน ให้พิมพ์รหัสไปรษณีย์ก็จะปรากฏสถานที่ตรวจ หรือกดไปที่จุดสีแต่ละจุดในแผนที่ก็จะแสดงข้อมูลของจุดตรวจ เช่น สีแดงในบางแห่งอาจเป็นศูนย์หรือแล็บงานวิจัยที่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปตรวจได้ ส่วนสีเขียวเป็นโรงพยาบาลของภาครัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้แม้ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน แม้มีศักยภาพที่จะตรวจได้ แต่ก็มีภาระที่จะต้องตรวจในกรณีอื่นๆ เช่น การคัดกรองผู้ป่วยเข้ารับบริการผ่าตัด คลอดบุตร หรือเข้าไอซียู ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะต้องมีการตรวจอยู่แล้วเกิน 300 รายต่อวัน ทำให้ต้องปฏิเสธไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดได้ เพราะภาระหน้างานที่ดำเนินการอยู่ จึงแนะนำให้ประชาชนโทรศัพท์ไปสอบถามก่อน
พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงบุคคลที่มีความจำเป็นที่ควรจะตรวจหาเชื้อโควิด-19 คือ 1.คนที่มีไข้ อุณหภูมิ 37.3 มีอาการระบบทางเดินหายใจ 2. คนที่ไม่มีอาการแต่ใกล้ชิดสัมผัสคนในครอบครัวเดียวกันกับผู้ป่วยยืนยัน 3.เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ไปตลาด ชุมชน โรงงาน และ 4.มีอาชีพหรือกิจกรรมเสี่ยง เช่น ทำงานในโรงงาน แคมป์ก่อสร้าง พนักงานขับรถ ค้าขายในตลาด พนักงานส่งอาหาร ความสำคัญในการตรวจหาเชื้อหลังพบว่าจากอัตราผู้เสียชีวิต พบว่ามีมากเกือบร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิต หลังทราบผลตรวจน้อยกว่า 6 วัน สะท้อนให้เห็นว่าคนไข้ไม่ตระหนักว่าติดเชื้อ บางรายไม่มีอาการ หรือเป็นเด็ก หรือผู้สูงอายุ อาจจะมีอาการซึม ทานอาหารได้น้อย เหนื่อย สิ่งสำคัญคือหากผลตรวจเป็นลบ อาจจะเป็นลบลวงได้ ควรกักตัวและตรวจซ้ำ รวมทั้งสังเกตอาการ
และหากผลตรวจออกมาเป็นบวก คือพบว่ามีการติดเชื้อ ขอให้รอยู่ที่บ้านก่อน และลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ ส่วนกรณีตรวจที่โรงพยาบาลให้แจ้งโรงพยาบาลนั้นๆ แต่ในกรณี่ที่ไปตรวจแลป คลินิค ประชาสังคมโรงงาน ให้ติดต่อ 1330 จะเป็นเบอร์หลักในการจัดการดูแลผู้ป่วย เพื่อนำเข้าระบบ ส่วนเบอร์โทรศัพท์ 1668 และ 1669 ขอสงวนไว้เป็นสายด่วน เพื่อช่วยชีวิตและช่วยลดความหนาแน่นผู้ป่วย ในระดับสีแดง และในกรุงเทพฯจะมีเบอร์โทรศัพท์ตรงสำนักงานเขตอีก 50 เลข โดยแต่ละหมายเลขจะมี 20 คู่สาย ทั้งนี้ในการโทรแจ้งขอให้เตรียมเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ เพราะจะต้องลงทะเบียน รวมทั้งผลการตรวจ การเตรียมเอกสารทุกอย่างให้พร้อม
“เบื้องต้นผู้ป่วย กทม.ที่เข้าสู่ระบบ โฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) เกือบแสนรายแล้ว และมีศูนย์บริการที่จับคู่ดูแลผู้ป่วย 232 แห่ง ส่วนผู้ที่ไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้จะต้องเข้ารับการรักษาในชุมชน หรือ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) ขณะนี้ใน กทม.มีจำนวน 64 แห่ง 6,958 เตียง ผู้ป่วยเข้าไปแล้ว 3,015 ราย และมีของภาคประชาสังคมอีกกว่า 100 แห่ง.-สำนักข่าวไทย