กระทรวงกลาโหม 10 มี.ค.-โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุการรับความคิดเห็นแนวทางสร้างความปรองดอง ระหว่างวันที่ 9-10 มี.ค. 4 พรรคเล็ก มองความขัดแย้งเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจ รวมทั้งทุจริตภาษีประชาชน ขณะที่การปฏิรูปประเทศ ต้องลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการศึกษา
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการรับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า การรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2560 มี 4 พรรคการเมืองมาให้ข้อคิดเห็น ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคถิ่นกาขาว พรรคเพื่ออนาคต และพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกพรรคมีไมตรีต่อกัน และพูดคุยอย่างเปิดกว้าง ทั้งนี้แต่ละพรรคมองเรื่องปรองดองว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และหวังว่าคนในชาติจะอยู่กันอย่างสันติสุข อีกทั้งทุกฝ่ายควรเปิดใจกว้าง มีสติและเป็นธรรม ทุกคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับความขัดแย้ง จะต้องทบทวนบทบาทของตนเองและองค์กร ขณะที่การรวบรวมความจริงก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการทุกกลุ่ม ไม่ใช่เพียงนักการเมืองเท่านั้น
พล.ต.คงชีพ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องความขัดแย้งนั้น พรรคการเมืองมองว่าเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ซึ่งเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจจากคนกลุ่มเล็ก รวมถึงการใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่ซื่อตรงและเป็นธรรม ตลอดจนการทุจริตในภาษีของประชาชน และยังถูกขยายผลด้วยการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ความขัดแย้งลงลึกในสังคม ส่งผลถึงสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ ดังนั้นประชาชนจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันและเดินออกจากความขัดแย้ง กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยไม่ถูกครอบงำ
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ขณะที่เรื่องปฏิรูปประเทศ พรรคการเมืองมองว่ามีความจำเป็นมาก โดยทุกรัฐบาลต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม ด้วยการรับฟังเสียงสะท้อนในพื้นที่ โดยเฉพาะการศึกษาที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ไม่ถูกครอบงำ และต้องบริหารจัดการที่ดินและน้ำให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม ด้านกระบวนการยุติธรรม พรรคการเมืองมองว่าต้องทำให้เกิดความเสมอภาคและกฎหมายต้องอยู่เหนืออำนาจการเมือง ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ พรรคการเมืองมองว่าประชาชนทุกคนมีความเชื่อและเห็นตรงกันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยทอดทิ้งคนชนบท ดังนั้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องได้รับการขยายผลเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวด้วยว่า สำหรับด้านสื่อสารมวลชน พรรคการเมืองมองว่า โครงสร้างของสื่อยังไม่เชื่อมโยงกันเอง และไม่เชื่อมโยงกับประชาชนด้วย ดังนั้นสื่อต้องทบทวนตัวเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านสื่อมวลชน เพื่อสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างจริงจัง ซึ่งสื่อมวลชนจำเป็นต้องเรียกศรัทธากลับคืนมา พร้อมเปิดพื้นที่ให้ยึดโยงกับประชาชนด้วย
“การรับฟังความคิดเห็นในแนวทางสร้างความปรองดองเดินหน้ามา 4 สัปดาห์แล้ว มี 39 พรรคการเมืองมาให้ข้อคิดเห็น โดยสัปดาห์หน้าจะเชิญมาอีก 7 พรรคการเมือง และ 2 กลุ่มการเมือง โดยหลังจากนั้น จะเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมต่อไป ขอยืนยันว่า ไม่ได้กำหนดเวลาว่าพรรคการเมืองจะต้องมาให้ข้อคิดเห็นภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เนื่องจากยังเปิดรับฟังความเห็นไปถึงเดือนเมษายน เพียงแต่หากพรรคการเมืองใดยังไม่พร้อมในช่วงนี้ ก็จะเชิญฝ่ายอื่น ๆ มาให้ข้อคิดเห็นก่อน” พล.ต.คงชีพ กล่าว
ด้าน พล.อ.ต.รังสรรค์ เยาวรัตน์ ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่ ได้กำหนดวันครบแล้วทั้ง 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ซึ่งทุกอย่างดำเนินการอย่างเรียบร้อย เป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นระดับพื้นที่ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ในส่วนของกองทัพภาคที่ 1 รับฟังความคิดเห็นแล้ว 5 จังหวัด และเตรียมความพร้อมอีก 3 จังหวัด กองทัพภาคที่ 2 รับฟังความเห็นแล้ว 5 จังหวัด กองทัพภาคที่ 3 รับฟังความเห็นแล้ว 6 จังหวัด กองทัพภาคที่ 4 รับฟังความเห็นแล้ว 1 จังหวัด และประชุมเตรียมความพร้อมอีก 2 จังหวัด ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการเสนอข้อคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และอิสระ ไม่มีการโต้แย้งใด ๆ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะรวบรวมเพื่อส่งให้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้
ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้วันที่ 13 มีนาคมนี้ คณะอนุกรรมการฯ เชิญพรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักธรรม และพรรคเสรีนิยมมาให้ข้อคิดเห็น จากนั้นในวันที่ 14 มีนาคม เชิญพรรคคนไทย พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย พรรคเมืองไทยของเรา และพรรคอนาคตไทยมาให้ข้อคิดเห็น ส่วนวันที่ 15 มีนาคม เชิญกลุ่ม นปช.มาให้ข้อคิดเห็น และในวันที่ 17 มีนาคมนี้ เชิญกลุ่ม กปปส.มาให้ข้อคิดเห็น.-สำนักข่าวไทย