ปัตตานี 7 มี.ค. – ปัญหาความไม่สงบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 12 ปี เริ่มมีความหวัง หลังการพูดคุยสันติสุขของตัวแทนรัฐบาลกับกลุ่มมาราปาตานีที่มาเลเซีย จนได้ข้อตกลงร่วมกันเรื่อง “การสร้างพื้นที่ปลอดภัย” เป็นเรื่องท้าทายเพราะในพื้นที่ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้หรือไม่
จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความรุนแรงถี่ขึ้นหลังมีการพูดคุยสันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มองค์กรร่มมาราปาตานีที่ประเทศมาเลเซีย นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การพูดคุยสันติสุขได้ข้อตกลงร่วมกันเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยใน 5 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น ปัตตานี 1 อำเภอ ยะลา 2 อำเภอ และนราธิวาส 2 อำเภอ ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกอำเภอนำร่องในการพูดคุยคราวต่อไป
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ปฏิเสธว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่เชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติสุขแต่อย่างใด ขณะที่ฝ่ายมาราปาตานี นำโดยอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกมาราปาตานี พร้อมด้วยตัวแทนจากกลุ่ม BIPP, BRN และ PULO ออกแถลงการณ์ประณามเหตุคนร้ายกราดยิงครอบครัวผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พร้อมปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าว
แม้ความรุนแรงจะยังคงเกิดขึ้น แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มมีความคาดหวังกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยว่าจะนำมาสู่ความสงบสุขและการพัฒนา นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้มองว่า เพราะประชาชนในพื้นที่อยู่ภายใต้ความรุนแรงมาตลอดกว่า 12 ปี จึงมีความคาดหวังสูงกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัย แต่เป้าหมายแท้จริงของพื้นที่ปลอดภัยในกระบวนการพูดคุยไม่ใช่แค่การหยุดยิงหรือยุติความรุนแรงเท่านั้น แต่เป็นกลไกที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้พิสูจน์ความจริงใจต่อกันว่าต้องการสงบศึกจริงหรือไม่ และฝ่ายมาราปาตานีจะสามารถบัญชาการกองกำลังที่อยู่ในพื้นที่ให้ยุติความรุนแรงได้หรือไม่
บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า กระบวนการพูดคุยขณะนี้ถือเป็นเพียงขั้นเริ่มต้น และเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะเป็นการยุติการใช้อาวุธที่ต่อสู้มาอย่างยาวนาน และหันมานั่งคุยกัน ต้องใช้ความอดทนและใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าจะได้มาซึ่งสันติสุขหรือสันติภาพ. – สำนักข่าวไทย