กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – อย.แจงผ้าอนามัยทุกชนิดจัดเป็นเครื่องสำอาง ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง มาโดยตลอด แต่เมื่อมีการปรับปรุง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ทำให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” ไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง จึงต้องมีการออกกฎกระทรวงกำหนด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข และรักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอด จัดเป็นเครื่องสำอาง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ผ้าอนามัยทั้งแบบใช้ภายนอกและชนิดสอด ถูกจัดเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอางมาโดยตลอด ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามของเครื่องสำอางที่เป็นวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เพื่อความสะอาด ฯลฯ แต่เมื่อพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ ได้กำหนดนิยามของเครื่องสำอางให้ใช้เฉพาะภายนอกร่างกาย จึงทำให้ผ้าอนามัยชนิดสอดไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง เนื่องจากมีการสอดเข้าไปในร่างกาย ไม่สอดคล้องกับคำนิยามดังกล่าว แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข โดย อย. จึงเห็นสมควรออกกฎกระทรวงให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอางดังเดิม เพราะจะได้มีการกำกับดูแลให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานความปลอดภัย ควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ รวมทั้งมีการแสดงคำเตือนที่ฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคได้ศึกษาทำความเข้าใจก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ด้วย
ทั้งนี้ ผ้าอนามัย จัดเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เป็นรายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยตามที่เป็นข่าว มีเพียงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ เท่านั้น
ภญ.สุภัทรา กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า สำหรับข้อควรระวังในการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ผู้บริโภคควรให้ความใส่ใจ คือ ไม่ควรใช้เมื่อภาชนะบรรจุฉีกขาด ไม่ควรใส่ไว้ในช่องคลอดนานเกิน 8 ชั่วโมง โดยควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4-8 ชั่วโมง ขณะใช้ หากมีอาการเป็นไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด ท้องเดิน หรือมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ให้นำผ้าอนามัยออก และรีบไปพบแพทย์ทันที ที่สำคัญ การเลือกซื้อผ้าอนามัยชนิดสอด ควรซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ ผลิตภัณฑ์มีฉลากภาษาไทยแสดงข้อความอันจำเป็นครบถ้วน เช่น ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า เลขที่ใบรับจดแจ้ง วันเดือนปีที่ผลิต วัสดุที่ใช้ วิธีใช้ คำเตือน เป็นต้น ผู้บริโภคควรอ่านฉลากให้ละเอียด โดยเฉพาะวิธีใช้ รวมทั้งปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด. – สำนักข่าวไทย