รัฐสภา 5 ก.ค.- “สรวุฒิ” ย้ำไม่ต้องการให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เป็นประเด็นดราม่าทางการเมืองหวังได้ใจประชาชนโยงแบน 3 สารพิษ ยันกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายต้องมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและองค์กรต่างประเทศที่มีความรู้ เผยพรุ่งนี้ ครม.จะหารือกันอีกครั้ง
นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย กล่าวว่า วันนี้ (5ก.ค.) คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้เชิญตัวแทนองค์การอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ทุกประเด็น และเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปถึงการเดินหน้าพิจารณาให้ความเห็นชองร่างกฎหมายในวันพุธที 7 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าหน่วยงานมีความจำเป็นที่จะต้องนำกฎหมายไปบังคับใช้ และเห็นว่าข้อกังวลของผู้แปรญัตติบางประเด็นเกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งไม่ควรนำมาเป็นประเด็นดราม่าทางการเมืองหวังได้ใจประชาชนเกี่ยวกับการแบน 3 สารพิษ เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา 3 สารพิษแต่อย่างใด พร้อมปฏิเสธข้อมูลที่ทำให้มีความกังวลว่า กรรมการสัดส่วนต่างประเทศจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการพิจารณา โดยชี้แจงว่าการพิจารณาวัตถุอันตรายเกี่ยวข้องทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ร.บ.ยา , พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ ,พ.ร.บ.เครื่องสมุนไพร หรือพ.ร.บ.อาหาร ที่บังคับเช่นเดียวกันใน 4 กระทรวง 6 หน่วยงาน
นายสรวุฒิ ยังพร้อมยกตัวอย่างในกระทรวงพลังงาน ว่าหากวันหนึ่งไม่มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ แล้วมีพลังงานชนิดใหม่มา เราจะไม่สามารถรับผลว่าจะมีผลประโยชน์หรือโทษต่อประเทศไทยอย่างได ซึ่งไม่ได้พิจารณาเพียงวัตถุอันตรายเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงการจัดเก็บ ลักษณะบรรจุภัณฑ์ เช่น กรณีโรงงานที่สมุทรปราการระเบิดวันนี้ หากเป็นสารชนิดใหม่แล้วคนไทยไม่มีความเชี่ยวชาญเลย ก็เป็นตัวอย่างเรื่ององค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ผลิตสารดังกล่าว
นายสรวุฒิ กล่าวว่า หลังการชี้แจงต่อวิปรัฐบาลแล้ว ในวันพรุ่งนี้ (6ก.ค.) คณะรัฐมนตรีจะหารือกันอีกครั้งหนึ่งด้วย โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะไปขอความเห็นจาก คณะรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่กำกับดูแล และสมาชิกที่ยังติดใจในบางส่วน และย้ำว่ากระบวนการที่พิจารณาใช้ความเห็นจากบุคล หรือองค์กรณีจากต่างประเทศเกิดขึ้นน้อยมา แต่จะเป็นการตัดโอกาสคนไทยที่จะได้ประโยชน์จากความเห็น และตามขั้นตอนก็ต้องขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญคนในประเทศก่อน
“ยกตัวอย่างเช่นการขอความเห็นเรื่องวัคซีนจาก นพ.ยง ภู่วรวรรณ เมื่อไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิต หากต้องใช้สถาบันทางวิชาการ หรือสถาบันวิจัยให้การรองรับอย่างที่มีสมาชิกแปรญัตติ จะเป็นการตัดโอกาสผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัคซีน เพราะนพ.ยง เกษียณราชการแล้ว” นายวรวุฒิกล่าว.-สำนักข่าวไทย