กรุงเทพฯ 30 มิ.ย.-กฟผ. จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ด้านบีกริมขอนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มเป็น 1.2 ล้านตันต่อปี โดยจะใช้กับอีก 13 โรงไฟฟ้า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ บริษัท ซีคอท จำกัด จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 วานนี้ (29 มิ.ย.)ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมลดเสี่ยงโควิด-19
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ขอขอบคุณชาวจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตามประชาชน ยังคงเดินหน้าร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018 Rev.1) ซึ่งมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2571 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยทาง กฟผ. และบริษัทจะรวบรวมความคิดเห็นมาปรับปรุงต่อไป
สำหรับประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจคือ ด้านอาชีวอนามัย การกำจัดของเสีย ด้านความปลอดภัย ด้านคุณภาพอากาศ ฝุ่นละออง ด้านการจราจร และด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นต้น โดยบริษัทที่ปรึกษาฯจะรวบรวมข้อห่วงกังวลของชุมชน นำมาปรับปรุงและกำหนดมาตรการต่อไป เพื่อให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือมีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100% ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการเพิ่มปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อีกจำนวนไม่เกิน 550,000 ตันต่อปี และเห็นชอบให้เพิ่มรายชื่อลูกค้าเพื่อจัดจำหน่ายเพิ่มเติมให้กับโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการของกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ อีกจำนวน 13 ราย
ก่อนหน้านี้ บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด ได้รับใบอนุญาตไปนำเข้าแล้ว จำนวน 650,000 ตันต่อปี เพื่อจัดจำหน่ายให้กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุสัญญาลง 5 โครงการ ของกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ในปี 2565
“การได้รับอนุญาต 2 รอบจาก กกพ. ทำให้ปริมาณการนำเข้า LNG ของกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านตัน/ปี เป็นหนึ่งในผู้นำเข้า LNG ภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดที่จะจำหน่าย LNG ให้กับโครงการโรงไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม (SPP) และยังจะช่วยเอื้อประโยชน์ในด้านการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งมีสัดส่วน 65-70% ของต้นทุนในการขายและให้บริการของ บี.กริม เพาเวอร์” นาย ลิงค์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย